LGBT ตลาดสีชมพู

By : Pattarakorn Vorathanuch
ก่อนที่คุณจะเริ่มอ่านบทความนี้ สิ่งแรกที่อยากจะบอกคือ อยากให้คุณเปิดใจให้กว้างเสียก่อน เพราะบทความเรื่องนี้ อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเพศของคุณ แต่ทว่า ถ้าหากคุณมองข้ามเรื่องราวเหล่านี้ บางทีก็อาจทำให้เสียโอกาสในการรับรู้เรื่องของเทรนด์โลก
นั่นคือ เรื่องของ L G B T ซึ่งเป็นคำย่อมาจากคำศัพท์ทั้ง 4 คือ
L = Lesbian (เลสเบี้ยน) G = Gay (เกย์) B = Bisexual (ไบเซ็กชวล) T = Transgender (คนข้ามเพศ) และนี่คือบทความที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ
อันที่จริง หากจะพูดถึงเรื่องของเพศที่สามนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะเพศเหล่านี้ได้ถือกำเนิดมาพร้อมๆ กับการเกิดของมนุษยชาติในโลกเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่มุมมองหรือการยอมรับในอดีตอาจไม่ได้เปิดกว้าง หรือเปิดใจยอมรับเรื่องของเพศที่สามเท่าไหร่นัก ซึ่งแตกต่างและสวนทางกับปัจจุบัน ที่ในหลายประเทศได้เปิดกว้างและเปิดใจยอมรับกับเรื่องราวเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันตก
จากข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ากลุ่มคนที่เข้าข่ายลักษณะเพศ LGBT ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปนั้น มีจำนวนมากถึง 15 ล้านคน (ข้อมูลจาก Rusa LGBT at Newyork city’s Pride Parade 2013) และตลาดกำลังซื้อ เอาเฉพาะของกลุ่ม L (Lesbian) หรือกลุ่มหญิงรักหญิงนั้นมีขนาดใหญ่มหาศาลถึงปีละ 2 แสนล้านเหรียญเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ตลาดการท่องเที่ยวของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังได้เปิดเผยตัวเลข ยอดจำนวนเงินโดยรวมพบว่าสูงถึง 54,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเทียบเท่าเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ทั้งหมด
ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ สามารถยืนยันให้เห็นชัดว่า ขณะนี้ตลาดของคนกลุ่ม LGBT น่าสนใจมาก เนื่องจาก บุคคลกลุ่มนี้ มีอัตรากำลังซื้อและรายได้ที่ค่อนข้างสูงมาก
สำหรับในประเทศไทย นับเป็นโอกาสอันดีที่ตลาดของคนกลุ่มนี้กำลังเริ่มเปิดขยาย ซึ่งหลายภาคธุรกิจและการตลาดของไทยเริ่มสนใจที่จะเปิดให้บริการรองรับตลาดของคนกลุ่มนี้ แม้ว่าอาจจะยังไม่มากและไม่ชัดเจนนัก
อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ได้เคยออกแคมเปญ เพื่อบุกเบิกตลาดในกลุ่มนี้ โดยได้ใช้ชื่อแคมเปญว่า Go thai be free ซึ่งจัดทำประชาสัมพันธ์ในรูปแบบของ Clip VDO และออกเผยแพร่สู่ตลาดโลก เพื่อเป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT นี้ และได้รับผลลัพธ์ในการการตอบรับที่ดี
ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยกำลังกลายเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่กลุ่ม LGBT ให้ความสนใจ และค่อนข้างคาดหวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะประเทศไทยมีกลุ่มคนที่เป็นเพศ LGBT ที่มีชื่อเสียงมากกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย และปรากฏอยู่ในหลายสาขาอาชีพ เช่น ดารา นักแสดง พิธีกร หรือแม้แต่นักวิชาการ และผู้บริหารระดับสูง
และจากความคาดหวังที่ได้กล่าวมานี้ส่งผลให้เกิดการเติบโต ขยายธุรกิจกลุ่ม LGBT ในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น มีการผลิตแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับกลุ่มที่จัดอยู่ในประเภท L (หญิงรักหญิง) นั่นคือกลุ่มทอม (สาวหล่อ) โดยแบรนด์นี้มีชื่อว่า Secant เป็นแบรนด์สินค้าไทยแบรนด์แรกๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มทอมบอย ที่มีสรีระแตกต่างจากเพศชาย
หรืออีกหนึ่งธุรกิจตัวอย่าง เช่น ร้านสีลมโซไซตี้ หรือชื่อเก่า คือร้านคอฟฟี่โซไซตี้ ร้านกาแฟและเบเกอรี่ ที่อยู่เคียงคู่ถนนสีลมมาเกือบ 20 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่บ่งบอกว่า ตลาดกลุ่ม LGBT สามารถยืนหยัดอยู่ได้ และน่าจะมีอัตราการเติบโตในแนวทางที่ดีขึ้นอีกด้วย
ในอนาคตคาดการณ์ว่า ตลาดของกลุ่มคน LGBT น่าจะมีความชัดเจนและเติบโตมากยิ่งขึ้น เราอาจได้เห็นธุรกิจหรือการตลาดที่หลากหลายมากขึ้น หรือมีผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมทางสังคมของแต่ประเทศ ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะเปิดใจยอมรับกลุ่มคนพวกนี้มากน้อยแค่ไหน
บางที ความหลากหลายทางเพศในอนาคตอันใกล้นี้ อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะใช้วัดคุณค่าความเป็นคน ได้เท่ากับคุณประโยชน์ ที่คุณจะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ที่ให้กับสังคมเสียมากกว่า…
https://www.youtube.com/watch?v=zUtWIyl8Fpg