GREEN ARCHITECTURE สถาปัตยกรรมไม่ย่ำยีโลก

By : Pattarakorn Vorathanuch


คุณรู้หรือไม่ว่า มนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ ช่างโชคดีที่เกิดมาในยุคที่มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่สุด นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการกำเนิดมนุษย์โลก

มนุษย์ยุคนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องของปัจจัยสี่เท่าไหร่นัก เช่น เรื่องของ ดิน น้ำ อากาศ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ยารักษาโรค เพราะความเจริญที่เพียบพร้อมต่างๆ ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบากยากเข็ญเหมือนมนุษย์ในยุคก่อน

แต่กว่าที่เราจะมาถึงจุดของความเจริญในรูปแบบเช่นนี้ได้นั้น ก็ไม่ใช่ระยะเวลาเพียงแค่ช่วงข้ามวันข้ามปี ทั้งหมดนี้เราใช้เวลาข้ามทศวรรษหรือศตวรรษกันเลยทีเดียว

ความเจริญที่เกิดขึ้นต่างๆ ในยุคนี้ ที่จริงไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลในด้านดีแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ เช่น งานสถาปัตยกรรม หรือตึกอาคารสูงเสียดฟ้าที่เราเห็นทุกวันนี้ หากจะมองดูเพียงด้านงานออกแบบที่สวยงามทันสมัย ก็อาจจะทำให้เรามองไม่เห็นถึงความสวยงามของทัศนียภาพธรรมชาติดังเดิมที่ควรจะเป็น

เดิมทีงานสถาปัตยกรรม หรือสิ่งก่อสร้าง งานนวัตกรรมยุคก่อนๆ นั้น มนุษย์ให้ความสำคัญเพียงแค่ความสวยงามของงานออกแบบและความแข็งแรง แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ ความไม่ใส่ใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องสำคัญลำดับท้ายๆ  จึงส่งผลกระทบให้เกิดปรากฏการณ์ที่เป็นภัยพิบัติต่างๆ ดังเช่น ปรากฏการณ์โลกร้อน หรือที่คุ้นเคยกับคำว่า เอลนิโญ่ El Niño หรือปรากฏการณ์ทางมลภาวะ อากาศ และความผิดปกติของธรรมชาติ ไม่เว้นแม้แต่ผลกระทบทางทรัพยากรที่กำลังจะหมดไป

จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติร้ายแรงหลายครั้งที่ผ่านมา ส่งผลและปลุกกระแสความตื่นตัวของมนุษย์ทั่วทุกมุมโลก  ให้เริ่มหันมาใส่ใจถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ยังคงที่จะพยายามคิดและสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมหรือนวัตกรรมให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยการเพิ่มเติมโจทย์การผลิต และมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับชีวิตและธรรมชาติมากขึ้น ที่สำคัญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก ดังนั้นงานสถาปัตยกรรมยุคใหม่ๆ ดังที่เห็นทุกวันนี้ จึงมีการสอดแทรกแนวคิดสีเขียวให้มาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ หรือนวัตกรรมในการก่อสร้างที่ช่วยลดมลภาวะ หรือที่เรียกว่า Gogreen  ทั้งหมดกำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ ที่ก่อให้เกิดโอกาสอื่น ๆ ตามมา ตัวอย่างเช่น

Gamento Board หนึ่งในตัวอย่างสินค้าที่ผลิตจากเศษผ้า เป็นวัสดุที่ได้จากการนำเศษผ้าเหลือทิ้ง มาอัดขึ้นรูปให้เป็นแผ่นกระดาน คุณสมบัติของตัววัสดุชนิดนี้ มีความแข็งเหมือนไม้พาติเคิลบอร์ด แต่สามารถทนความชื้นได้ดีกว่า และมีคุณสมบัติการหน่วงไฟเหนือกว่า ที่สำคัญคือ เป็นการ Reuse เศษวัสดุได้ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำมาใช้ทดแทนวัสดุประเภทไม้ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงผนังต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยลดปัญหาเรื่องของการตัดต้นไม้ลง

นอกเหนือจากเรื่องวัสดุใส่ใจโลกแล้ว ยังมีโครงการใหญ่ๆ อย่าง โครงการสร้างอาคารประหยัดพลังงาน หรือที่เรียกกันว่าอาคารสีเขียว ซึ่งปัจจุบันก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่หลายองค์กรต่างให้ความสนับสนุน เพื่อให้เจ้าของอาคารหรือผู้ใช้อาคารได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดยเกณฑ์การคัดเลือกของอาคารสีเขียว มีองค์ประกอบดังนี้
1. ภายในอาคารของโครงการจะต้องมีต้นไม้ เพื่อให้ความร่มรื่น
2. ต้องเป็นอาคารที่มีระบบการประหยัดพลังงานน้ำ และการกำจัดน้ำเสียก่อนปล่อยน้ำทิ้ง
3. ให้ความสำคัญในการออกแบบ โดยมีส่วนที่ใช้พลังงานทดแทนเสริมเข้ามา เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน
4. เป็นอาคารที่ประหยัดทรัพยากร หรือเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่อาจไม่ใช่ไม้ทั้งหมด เพื่อช่วยลดการตัดต้นไม้
5. ต้องมีความสะดวกสบาย และมีส่วนช่วยในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของอาคารประหยัดพลังงาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็ได้มีหน่วยงาน สถาบัน และบริษัทหลากหลายองค์กร ได้ให้ความร่วมมือ ส่งผลให้โครงการอาคารสีเขียวมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นเรื่องดีที่เราทุกคนจะสามารถร่วมกันสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมการก่อสร้าง ไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกให้ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
https://www.youtube.com/watch?v=huqwX1IsDmY

 

Reviews

Comment as: