กรุงเทพมหานคร แบรนด์นี้มีพลังแค่ไหน

By : Pongsak Sanitwongse


“กรุงเทพมหานคร พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร
อมรรัตนโกสินทร์ เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต
มหินทรายุธยา เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้
มหาดิลกภพ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง
นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่นรมย์ยิ่ง
อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย
อมรพิมานอวตารสถิต เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา
สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ซึ่งท้าวสักกะเทวราชพระราชทาน
ให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”

กรุงเทพฯ เมืองนี้มีพลังแค่ไหน ถ้าเป็นตราสินค้า เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งหรือกำลังอ่อนแรง ถ้าเป็นการทำธุรกิจ โอกาสอยู่ตรงไหน กลยุทธ์ในการผลักดัน คืออะไร ใครเป็นคนวางบทบาทให้เมืองนี้เล่น ที่สำคัญ เรื่องเล่าของเมืองหลวงเมืองนี้ ที่จะใช้เล่าให้ผู้คนฟังแบบไม่รู้เบื่อ คืออะไร บุคคลิกของเมืองนี้วางไว้เช่นใด ท่านผู้ว่า กทม.ตอบได้มั้ยครับ ถ้าตอบได้ หนองจอก มีนบุรี บางนา ยานนาวา เป็นแบรนด์ลูก ที่เล่นบทบาทอะไร สะท้อนความเป็นแบรนด์แม่ได้มากแค่ไหน ถ้าเดินไปสำนักงานเขตคลองสามวา จะมี Retail Identity และ Corporate Identity เหมือนกันไหม ผมตั้งคำถามแบบไม่ประสงค์รับฟังคำตอบครับ เพราะสิ่งที่เราพูด เข้าสู่โหมดเพ้อฝันในสายตาผู้ที่ดูแลเมืองนี้อยู่แน่ๆ เมืองนี้น่าจะมีอายุราวๆ 233 ปี คนที่เป็นเจ้าข้าวเจ้าของเมืองนี้มีสัก 8 ล้านคนได้มั้งครับ เมืองใหญ่เมืองนี้ความเป็นตัวตนนิ่งอยู่กับที่ การพัฒนาทางวัตถุมีมากมาย แต่การวางแผน-วางผังเมือง ทุกคนอยากให้เป็นเช่นนี้จริงๆหรือครับ อยากให้มั่วๆกันไปวันๆจริงหรือครับ ใครๆยังอยากไปเที่ยวกรุงเทพฯ อยู่หรือเปล่า ภาพหนึ่งภาพของกรุงเทพฯคุณลองมโน คุณเห็นว่าเป็นภาพอะไร…..

เวลาเรามองเมืองอื่นในโลกนี้ เช่น “อิสตันบูล” เป็นเมืองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรม ดินแดนที่ตะวันออกพบตะวันตก เป็นเมืองเดียวของโลกที่คาบเกี่ยวสองทวีป เป็นสะพานที่เชื่อมเอเชียและยุโรป มีการถ่ายเททางวัฒนธรรมที่หลากหลาย วัฒนธรรมที่เต็มอิ่มและหลากหลายนี่เองที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากมาย แบรนด์แบบนี้ชัดเจน โดนใจ เห็นภาพชัด

ถ้าคุณนึกถึงการใช้ชีวิตที่หรูหรากับแฟชั่นชั้นนำ ถ้าคุณชอบดื่ม ฟัง ชิม หรือเสพวัฒนธรรมต้องที่นี่

คุณนึกถึงเมืองไหนไปไม่ได้ นอกจาก “ปารีส” หรือ City of Light และเป็นมหานครแห่งแนวคิดใหม่ ขบถอยู่ใน ดี.เอ็น.เอ ทุกๆคน เพราะชนชั้นกลางของเขาเป็นพวกต่อต้านกระแสหลักมาตั้งแต่ยุคต้นศตวรรตที่ 20 เมืองนี้ ความสนุกสนานที่ผสมผสานเนี่ยแหละเป็นแบรนด์ที่มีภาพชัดเจนเช่นกัน
และอีกนครหนึ่ง ที่เรียกกันว่า มหานครที่ไม่มีวันหลับไหล นครแห่งความฝัน และขอบอกว่าช่างตื่นตาตื่นใจโดยเฉพาะเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดิน มันคือเมืองนครเซี่ยงไฮ้ เมืองเปี่ยมสุข เป็นเมืองที่ทุกอย่างเป็นภาพสองมุม เหรียญสองด้าน มีความสุขก็มีความทุกข์ มีวัฒนธรรมที่ดีก็มีมีเรื่องอาชญากรรม ยาเสพติดและการพนัน เป็นประตูที่เชื่อมชาวตะวันตก เป็นภาพที่ใครอยากเยี่ยมชม

นิตยสารทราเวล แอนด์ เลเชอร์ (Travel & Leisure) ซึ่งเป็นนิตยสารด้านการท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในเอเชีย โดยทำแบบสอบถาม ให้ผู้อ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งทำเป็นประจำทุกปี เพื่อจัดอันดับคะแนน แบ่งรางวัลเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ เมืองที่ดีที่สุด หมู่เกาะที่ดีที่สุด สายการบินนานาชาติที่ดีที่สุด โรงแรมที่ดีที่สุด เป็นต้น โดยในปี 2557 พบว่า “กรุงเทพฯ” ซึ่งเคยเป็นอันดับ1 ในเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในเอเชีย ในปี 2556 มาในปี 2557 ผลสำรวจพบว่า ถูกลดระดับมาอยู่อันดับ 3 โดยมี เกียวโต เมืองเก่าของญี่ปุ่นขึ้นเป็นอันดับ 1 แทน และยังถูกเมืองท่องเที่ยวของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเสียมเรียบ จากปีก่อนอยู่ในอันดับ4 ปีนี้แซงหน้าขึ้นเป็นอันดับ2 ได้คะแนน 89.82 ขณะที่กรุงเทพฯได้คะแนนเพียง 88.32 ส่วนอันดับ 4 เป็นโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ปรับขึ้นมาจากอันดับ 6 ในปีที่แล้ว และอันดับ 5 ยังคงคงที่เหมือนปีที่แล้ว คือฮ่องกง มองรวมๆแล้วมันก็ไม่ได้เลวร้าย แต่ภาพอื่นๆ มันก็ติดอันดับในเรื่องแย่ๆในระดับโลกด้วยเช่นกัน

กรุงเทพฯเปลี่ยนไปเยอะมั้ย ผมว่าเมื่อก่อนภาพชัด ภาพวัฒนธรรมอันสวยงามที่อาบฉายอยู่ในเมืองหลวง ช่างน่าประทับใจ สยามเมืองยิ้มเมื่อก่อนเห็นได้ชัดในเมืองหลวง แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป ตอนนี้มันเป็นเมืองจับฉ่าย สิ่งที่อยากเห็น คำๆเดียวที่บ่งบอกความหมายของกรุงเทพฯคืออะไร นิทานที่จะเล่าขานเรื่องเมืองฟ้าอมร ยังคงมีมนต์ขลังอยู่ไหม มันไม่มี มันถูกบดขยี้ตั้งแต่พวกเราเอากรุงเทพฯ ไปเป็นสนามกรีฑาทัพเข้าห้ำหั่นกันทางการเมืองจนเละเทะ ต่อเนื่องกันเกินสิบปี

ถ้าเราจะเปิดโอกาสทำอะไรให้มหานครกรุงเทพ ผมอยาก re-branding กรุงเทพฯ กำหนดวิถีทางให้กรุงเทพฯ อะไรคือโอกาสเมื่อเทียบกับมหานครอื่นๆ ทั่วโลก เราจะ push จะ pull กรุงเทพฯไปแบบไหน กลุ่มเป้าหมายมีสองส่วน คือ เจ้าของบ้านกับผู้มาเยือน เราจะนำเสนอตัวตนที่แตกต่างของเราเช่นไร อะไรคือคุณค่าที่สร้างประสบการณ์อันประทับใจให้ผู้มาเยือน แม้แต่เจ้าของบ้านเกือบแปดล้านคน เรามีอะไรที่มัดใจเขาให้รักและภูมิใจ บุคคลิกของแบรนด์กรุงเทพฯเป็นคนเช่นไร โอยมีเรื่องอีกมากมายหลายบริบทที่จะวิเคราะห์ แล้วสร้างแนวทางกลยุทธ์ มันเป็นเรื่องที่น่าจะทำให้จริงจังทั้งระบบ มากกว่าการแค่ปิดป้ายสร้างคำพูดเก๋ๆ ลอยๆไว้บนสะพานลอยใช่หรือไม่ครับ

 

Reviews

Panupong Rassameemekin

April 11 2016 at 17:19 PM

This is bangkok city ไม่ได้มีแค่ชื่อ..

Comment as:
Comment as: