เมื่อความกลัวไล่ล่าคุณ

By : Anusorn Tipayanon
สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ การต้องอยู่โดดเดี่ยวในเมืองยุคใหม่ที่ขยายตัว สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เราแทบทุกคนล้วนตกอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “ความหวาดกลัว”
การที่ความหวาดกลัวโจมตีเราได้ง่ายและอย่างสม่ำเสมอ นั่นเป็นเพราะความหวาดกลัวและความกลัวเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในสมอง เมื่อเราเกิดความกลัวขึ้นในยามใดมันจะขยายตัวไปเรื่อยดังลูกคลื่นที่ขยายตัวก่อนถึงฝั่ง ร่างกายเราจะสนองตอบต่อความกลัวเพื่อปกป้องและป้องกันเราจากอันตราย หัวใจของเราจะเต้นแรงขึ้น ลมหายใจของเราจะกระชั้นขึ้น กล้ามเนื้อของเราจะแข็งเกร็ง เพื่อเตรียมตัวต่อสู้ หรือตอบโต้ต่อสิ่งที่เราหวาดกลัวนั้นๆ
กระบวนการของความกลัวในสมองของเรานั้นประกอบไปด้วยห้าขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนแรกจะเกิดขึ้นในสมองส่วนที่เรียกว่า ทาลามัส (Thalamus) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ใช้รับรู้ถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับเรา การรับรู้นี้แบ่งเป็นสองแบบด้วยกัน แบบแรกเป็นการรับรู้แบบฉับพลันว่าเรากำลังมีอันตรายอย่างใหญ่หลวงหรือถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตเช่นการถูกมีดจ่อคอหอยหรือมีโจรเอาปืนจี้ที่ศีรษะ กรณีแบบนี้สมองส่วนทาลามัสจะส่งสัญญาณไปอย่างสมองส่วนอมิกดาล่า (Amygdala) หลังจากนั้นอมิกดาล่าจะส่งผ่านไปยังสมองส่วน ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus)ที่ส่งต่อไปยังต่อมอดรีนาลินที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดและการตื่นตัวของกล้ามเนื้อนั้นๆ
แบบที่สองเป็นความกลัวที่ไม่ส่งผลถึงอันตรายต่อชีวิตแต่เป็นความกลัวในจิตใจของแต่ละบุคคลเช่นการประสบกับแมลงสาบ งู ความมืดหรือความสูง ความกลัวส่วนนี้สมองทาลามัสจะส่งไปที่สมองส่วน คอร์เทกซ์(Cortex) สมองส่วนคอร์เทกซ์จะส่งผ่านไปยังสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) เพื่อเปรียบเทียบความกลัวที่เกิดขึ้นกับความกลัวในแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในอดีต สมองส่วนฮิปโปแคมปัสนั้นเป็นสมองส่วนที่ทำงานกับความจำความกลัวแบบนี้จะฝังอยู่ในความจำและส่งผลต่อการสร้างความกลัวด้วยเงื่อนไขที่ว่าในอนาคตต่อไป
สภาวะความทรงจำเกี่ยวกับความหวาดกลัวนี้เรียกว่าสภาวะความทรงจำอันเลวร้ายที่ส่งผลภายหลังหรือ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) ความกลัวแบบเรื้อรังที่ว่านี้มีอันตรายตรงที่มันทำให้เราหลงเหลือความทรงจำระยะสั้น ก่อให้เกิดความกระวนกระวาย และทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้น่ากลัวและยังทำลายประสิทธิภาพของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นผลร้ายต่อเราและหนทางเดียวที่เราจะเอาชนะมันได้คือ”การฝึกเพื่อเอาชนะความกลัว”
การฝึกที่ว่านี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “การขจัดความกลัว หรือ Fear Extinction”ซึ่งทำได้โดยการปลูกฝังความทรงจำใหม่ต่อสิ่งที่เรากลัวนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่นหากเราหวาดกลัวแมลงสาบ ทุกครั้งที่เราเห็นสิ่งดำๆขนาดเล็กบนพื้น เราจะมองเห็นมันเป็นแมลงสาบและกลัว เราต้องสร้างความรู้สึกที่เป็นบวกกับสิ่งที่เรากลัวเช่นเราต้องมองให้เห็นว่าแมลงสาบที่เราเห็นนั้นเป็นเพียงสิ่งเล็กๆสีดำที่ไม่มีพิษสงอะไรเลย
การสร้างความทรงจำใหม่ด้านบวกนี้จะส่งผลต่อสมองส่วนอมิกดาล่าให้เริ่มต้นบันทึกสิ่งใหม่ลงในสมอง การบันทึกสิ่งใหม่ลงในสมองทุกวันๆจะทำให้เราเอาชนะความกลัวได้ในที่สุด
จงจดจำว่า การต่อสู้กับความกลัวนั้นไม่ใช่การที่ปล่อยให้ความกลัวควบคุมคุณหากแต่ “คุณต้องเป็นฝ่ายควบคุมความกลัวนั้นแทน”