หนึ่งกิจกรรมต่อวัน หนึ่งความสุขที่ยั่งยืน

By : Anusorn Tipayanon


“Being a giver rather than a taker” จงเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ถ้อยคำอันเรียบง่ายนี้มีความหมายในการหาความสุขในแต่ละวัน การเสียสละเพื่อผู้อื่นคือการกระทำที่ไม่หวังผลตอบแทน และการปรับใช้การกระทำที่ไม่หวังผลตอบแทนด้วยการสร้างกิจกรรมที่ต่อเนื่องในแต่ละวันคือยาที่ช่วยรักษาอาการซึมเศร้า หดหู่ หรืออาการหม่นหมองได้ดีที่สุดชนิดหนึ่ง

ในปี 2013 วารสารที่มีชื่อว่าจิตวิทยาด้วยการคิดบวก หรือ Journal of Positive Psychology ได้ตีพิมพ์บทความที่กล่าวถึงการเลือกทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันที่เราทำสำเร็จได้อย่างต่อเนื่องจะส่งผลต่อความสุขที่ยั่งยืนในระยะยาว และโดยเฉพาะกิจกรรมที่ส่งต่อให้คนอื่นมีความสุขด้วยแล้วยิ่งมีผลด้านบวกต่ออารมณ์ของผู้กระทำอย่างน่าสนใจ

ในการสอบถามผู้คนกว่าสี่ร้อยคนในบทความนั้น มีกิจกรรมมากมายที่แต่ละบุคคลเลือกทำอาทิเช่นการถักโครเชท์ การอ่านหนังสือ การทำสวน แต่กิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือการทำขนมปังหรือ Baking ครูที่สอนทำขนมปังคนหนึ่งคือ จูลี่ ทอมสัน-Julie Thomsonกล่าวว่านักเรียนของเธอที่มาเรียนการทำขนมปังและกลับไปทำขนมปังแจกจ่ายผู้คนนั้นมีความสุขขึ้นกว่าเดิมมาก

แน่นอนมีกิจกรรมเหล่านั้นอยู่เสมอในแต่ละบุคคลเช่นการเล่นโยคะ การวิ่ง หรือการออกกำลังกายแบบอื่นแต่สิ่งเหล่านั้นดูจะสำเร็จลงเฉพาะตัวมากเกินไป ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับบุคคลอื่น จูลี่ ทอมสัน- Julie Thomson ได้ผนวกกิจกรรมส่วนตนส่วนรวม คือ การนั่งสมาธิเข้ากับการทำขนมปังและเรียกสิ่งนั้นว่า Breaditation อันหมายถึงการทำสมาธิผ่านการนวดแป้งและทำขนมปัง “สิ่งพิเศษสำหรับการทำขนมปังอย่างมีสติหรือมีสมาธิจดจ่อคือคุณได้ขนมปังเป็นผลลัพธ์ในที่สุด มีสิ่งจับต้องได้เกิดขึ้นและคุณสามารถแบ่งปันมันกับบุคคลอื่นได้”

การสร้างกิจกรรมเช่นนี้เอื้อต่อบุคคลที่อาจรู้สึกว่าการนั่งสมาธิโดดๆนั้นจืดชืดและไม่มีชีวิตชีวา นอกจากนี้การทำขนมปังยังข้องเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสรรค์ การชั่งตวงวัดปริมาณแป้ง การขบคิดถึงกลิ่นหรือรส การใส่ใจกับส่วนผสม ทำให้สมองได้ทำงาน ได้ตื่นตัว เราอาจรู้สึกเบ้หน้าถ้ารู้สึกว่าต้องนั่งสมาธิเป็นเวลานานนับชั่วโมงในแต่ละวันแต่หากถูกสั่งให้ทำขนมปังเพื่อแจกจ่ายคนอื่น เราจะรู้สึกตื่นเต้นจนแทบจะผูกผ้ากันเปื้อนในตอนนั้นเลย

กิจกรรมที่ว่านี้มีปัจจัยสองแบบที่เอื้อต่อความรู้สึกป่วยไข้ทางจิตใจ ปัจจัยข้อแรกคือมันก่อให้เกิดการดูแลตัวเอง การได้ใช้ศักยภาพของตัวเองกระทำบางสิ่งที่สำเร็จออกมาหรือที่เรียกว่า Self Care Therapy ปัจจัยข้อที่สองคือ การฝึกสิ่งที่มีวินัยหรือ Discipline เราทำบางอย่างทุกวันและทำมันเพื่อผู้อื่นเช่นการทำขนมปังแล้วมอบให้เพื่อนบ้านหรือการถักผ้าพันคอเพื่อส่งต่อให้ผู้คนในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น สองปัจจัยนี้กระตุ้นพลังงานด้านบวกในตัวของเราให้แสดงตนได้มากขึ้นและมากขึ้น

ดังนั้นในวันที่เงียบเหงาหรือรู้สึกเหมือนว่าตนเองไร้ค่าอันอาจเป็นการนำตัวเราไปสู่ความซึมเศร้า หงอยเหงา ขอให้ลงมือกระทำบางสิ่ง หยิบแป้งมาผสมน้ำ นวด และนวดมันขึ้นเป็นแป้งขนมปัง เปิดเตาอบ ผสมกลิ่นและรสในแป้งแบบที่เราชื่นชอบ อบมันออกมาเป็นขนมปังและมอบให้ใครสักคนได้ลิ้มลอง  มีคำขวัญสำหรับนักอบขนมปังเพื่อความสุขว่า The more we bake, the more we’ll want to bake, the happier we’ll feel ยิ่งอบขนมปัง ยิ่งอยากอบขนมปังมากเพียงใด ความรู้สึกเป็นสุขของเรายิ่งมากขึ้นเพียงนั้น

 

Reviews

Comment as: