ศาสตร์ว่าด้วยการเยียวยาตนเองของร่างกาย

By : Anusorn Tipayanon
รางวัลโนเบลประจำปี 2016 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตกเป็นของ ศาสตราจารย์ โยชิโนริ โอสุมิ- Yoshinori Ohsumi ด้วยหัวข้องานวิจัยด้าน Autophagy – ศาสตร์ว่าด้วยการเยียวยาตนเองของร่างกาย
ศาสตราจารย์ โยชิโนริ โอสุมิ นักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันเทคโนโลยี่แห่งโตเกียว-Tokyo Institute of Technology ค้นพบว่า เซลล์ในร่างกายของมนุษย์ มีกระบวนการขจัดโปรตีนที่เป็นอันตรายจากการย่อยสลาย และนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ในสภาพของโปรตีนที่มีคุณภาพดี กระบวนการเช่นนี้ ที่ทำให้ร่างกายของมนุษย์แข็งแรงและปลอดภัย จากความเจ็บป่วย
เราอาจสรุป ประเด็นสำคัญ ที่เขาได้รับรางวัลผ่านคำกล่าวของ จูลีน เซียราช-Juleen Zierath ผู้ที่เป็นกรรมการคัดเลือกรางวัลในสาขานี้ว่า
“ทุกวันเราจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนถ่ายโปรตีนใหม่ ราว 200 – 300 กรัม เข้าสู่ร่างกาย และเมื่อครบ 2 – 3 เดือน ร่างกายเราจะใช้โปรตีนชุดใหม่ทั้งหมด ระบบการเยียวยาตนเอง ทำให้เราสร้างโปรตีนให้ร่างกายตนเองได้ โดยแต่ละวัน ร่างกายได้รับโปรตีน ในระดับเจ็ดสิบกรัมต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ดังนั้นโปรตีนส่วนที่เหลือจากกระบวนการนี้ ทั้งโปรตีนที่ไม่จำเป็นและโปรตีนที่จำเป็น จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยกระบวนการอันละเอียดอ่อนและทำให้เรามีชีวิตที่ปลอดภัย”
ข่าวการได้รับรางวัลเดินทางไปถึง ศาสตราจารย์โอสุมิ ในขณะที่เขาอยู่ในห้องทดลองที่สถาบัน “ผมรู้สึกแปลกใจมาก” เขากล่าวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของรางวัลโนเบล
ซึ่งส่วนตัว เขาเชื่อมาตลอดว่า หน้าที่พื้นฐานของเซลล์ คือการธำรงรักษาตนเอง นับตั้งแต่ยีสต์จนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มันเห็นชัดในกระบวนการ Autophagy หรือกระบวนการเยียวยาตนเอง
ซึ่งคำว่า Autophagy นั้นมาจากภาษากรีก คำว่า Auto แปลว่าตนเอง ในขณะที่คำว่า Phagy นั้นมาจากคำว่าPhagein แปลว่าto eat หรือการกลืนกิน ดังนั้น Autophagy จึงหมายถึงการกลืนกินสิ่งที่อยู่ภายในตนเองหรือหมายถึง-การใช้พลังงานในตนเองเพื่อตนเอง
ศาสตราจารย์โอสุมิกล่าวถึง การค้นคว้าในความหมายเฉพาะนั้น เป็นศาสตร์ใหม่ที่เขาเริ่มต้นทุ่มเทมาราวยี่สิบปี แต่ในความหมายกว้าง ที่ตนเองใช้พลังงานเพื่อตนเองนั้น เรารู้จักกันในนามของศาสตร์แห่งการเยียวยาตนเองหรือ Self Healing ลองนึกถึงการถูกมีดบาดในครัว หรือการมีแผลจากการบาดเจ็บเล็กน้อย เราจะพบว่า แค่เพียงการรักษาความสะอาดที่บาดแผลให้เพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งพายารักษาใดๆ ร่างกายจะค่อยๆสมานบาดแผลเหล่านั้นได้
ศาสตร์แห่งการเยียวยาตนเองที่ยืนยาวนับพันปีนั้น ปรากฏในอายุรเวทหรือการแพทย์แบบจีน ที่เชื่อว่าในร่างกายของมนุษย์ มีพลังชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ชี่ หรือ QI เป็นพลังที่เคลื่อนไปตามร่างกายพร้อมกับลมหายใจ การขับเคลื่อนพลังที่ว่าไปตามร่างกายนี้ จะทำการรักษาส่วนที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วย
การฝึกการเยียวยาตนเองด้วยพลังชี่ที่ว่า มีตั้งแต่ระดับที่เป็นการใช้จิตวิทยาพูดกับตนเอง ไปจนถึงการฝึกการหายใจอย่างเป็นระบบ ทั้งผ่านการทำสมาธิหรือการรำมวยจีนที่เรียกว่ามวยไท่จี๋ หรือไท่ชี่
นอกเหนือจากการเยียวยาตนเองในฐานะของสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังมีวิชาการด้านการเยียวยาตนเอง ที่น่าสนใจอีกหนึ่งหัวข้อ คือกระบวนการเยียวยาตนเองของวัสดุ-Self Healing Material โดยสาเหตุในการค้นคว้า มาจากการที่วัสดุจำนวนมาก มีการผุกร่อนไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นวัสดุในงานเครื่องจักรหรือในงานก่อสร้าง ดังนั้นการเพิ่มตัวกระตุ้นบางอย่างเข้าไปในวัสดุที่ผุกร่อน จึงเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักวัสดุศาสตร์กำลังให้ความสนใจ
วัสดุที่ก้าวหน้าในการเยียวยาตนเองขณะนี้ คือคอนกรีตที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร โดยเริ่มจากปัญหาที่คอนกรีต มีการเริ่มผุกร่อนจนน้ำซึมเข้าไป ก่อปัญหากับเหล็กโครงสร้างภายใน เหล่านักวิจัยในมหาวิทยาลัย Delf ประเทศฮอลแลนด์ พวกเขาจึงคิดค้นวิธีแก้ไข และขจัดปัญหาเหล่านี้ ด้วยการใส่แคปซูลแบคทีเรียเข้าไปในคอนกรีต ที่ผสมแคลเซี่ยมแลคเทต ซึ่งเมื่อคอนกรีตเกิดการผุกร่อน น้ำจะเข้าไปทลายแคปซูลแบคทีเรียที่ว่า และแบคทีเรียจะเริ่มใช้แคลเซียมแลคเทตในคอนกรีตเป็นอาหารและสร้างหินปูนขึ้น เพื่ออุดรอยผุกร่อนและทำให้คอนกรีตกลับมาใช้งานได้ตามเดิม งานวิจัยที่ว่านี้ถูกนำไปใช้ในอาคารทันสมัยหลายแห่ง และมีคำเรียกงานอาคารที่สามารถซ่อมแซมตนเองได้ว่า อาคารชีวภาพ หรือ Biology Building โลกกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางของการเยียวยาตนเอง และมันอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เรากำลังกระพริบตา