Uber และ Grab กับความท้าทายในการกำกับดูแล

By : Isriya Paireepairit


ประเด็นความขัดแย้งเรื่อง Uber และ Grab ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นเรียกใช้บริการรถลักษณะเดียวกัน กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลัง Uber ไปเปิดบริการที่เชียงใหม่ และได้รับการต่อต้านจากผู้ประกอบการ “รถแดง” รถรับจ้าง ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มานาน

ความขัดแย้งระหว่าง Uber กับรถแดง ลากเอากรมการขนส่งทางบกมาเกี่ยวข้องด้วย โดยกรมการขนส่งทางบกได้ “ล่อซื้อ” เรียกรถผ่าน Uber มาจับปรับ ในฐานะทำผิดกฎหมายรถรับจ้างสาธารณะ เรื่องนี้เลยถูกวิจารณ์อย่างหนัก เพราะบริการขนส่งมวลชนของประเทศไทยมีปัญหาเรื้อรังมานาน แต่พอมีบริการ “ทางเลือก” เข้ามาแข่ง กลับถูกหน่วยงานภาครัฐสั่งปรับ เพราะทำผิดกฎหมาย

ผมคิดว่าปรากฏการณ์ Uber ในไทยเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และมีทั้งความเหมือน-ความต่างกับปัญหา Uber ในต่างประเทศ

ก่อนอื่นต้องมองว่าบริบทเรื่องรถรับจ้างหรือแท็กซี่ในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันมาก ในทางหนึ่ง ประเทศอย่างญี่ปุ่นหรืออังกฤษ มีบริการแท็กซี่ที่ดีมาก คนขับมีความรู้เรื่องถนนหนทางเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าโดยสารที่แพงมาก ขึ้นครั้งหนึ่งอาจทำเอาหมดตัวได้ง่ายๆ

ในอีกทาง เราก็เห็นประเทศที่แท็กซี่หรือรถรับจ้างไม่มีคุณภาพ ปฏิเสธผู้โดยสารหรือโกงค่าโดยสาร ตัวอย่างประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ประเทศไทย แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เวียดนาม และอีกหลายประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก  การเกิดขึ้นของบริการเรียกรถรับจ้างอย่าง Uber หรือ Grab จึงให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับบริบทของแท็กซี่ในแต่ละประเทศด้วย

ในประเทศที่แท็กซี่ดีแต่แพง บริการแบบ Uber ถือเป็น “ทางเลือกที่ถูกกว่า” โดยคุณภาพอาจลดลงมา จากแท็กซี่ปกติอยู่บ้าง แต่ก็ช่วยพาไปถึงจุดหมายได้เช่นกัน ในประเทศเหล่านี้ กลุ่มคนขับแท็กซี่เดิมจะไม่พอใจเพราะถือว่า Uber มาตัดราคาตัวเองจนเสียรายได้ไป เพราะ Uber เปิดให้ “ใครก็ได้” มารับจ้างขับรถ ต้นทุนจึงถูกกว่าแท็กซี่ที่มีต้นทุนการกำกับดูแลสูงกว่า รถยนต์ต้องเนี้ยบกว่า คนขับต้องผ่านการตรวจมาตรฐานอย่างเข้มข้น

ในทางกลับกัน ประเทศที่แท็กซี่ราคาไม่แพง แต่มีปัญหาเรื่องคุณภาพอย่างในบ้านเรา บริการแบบ Uber กลับกลายเป็น “ทางเลือกที่ดีกว่า” เช่น เรียกรถได้จากทุกที่ ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่โกงค่าโดยสาร (เพราะจ่ายเงินผ่านแอพ) ในขณะที่ราคาอาจถูกกว่าหรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

ภายใต้บริบทแบบประเทศไทย บริการแบบ Uber/Grab จึงถือเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค ที่เดิมทีไม่มีสิทธิเลือกมากนัก และเป็นความท้าทายว่า กรมการขนส่งทางบกของไทยจะกำกับดูแลอย่างไร

ท่าทีของกรมการขนส่งทางบกในปัจจุบัน ออกมาในเชิง “ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง” มองว่าบริการแบบนี้ผิดกฎหมายรถรับจ้างสาธารณะ และพยายามปิดกั้นบริการด้วยการจับ-ปรับ แล้วหวังว่า Uber/Grab จะเลิกทำธุรกิจไปเอง

ประเด็นของกรมการขนส่งทางบก ที่มองว่า Uber ใช้รถทะเบียนป้ายดำ (รถที่นั่งส่วนบุคคล) มาให้บริการสาธารณะ แล้วเกิดปัญหาว่า ไม่สามารถควบคุมดูแลด้านอาชญากรรม-ความปลอดภัยของผู้โดยสารได้ เป็นประเด็นที่มีน้ำหนักและควรรับฟัง แต่แนวทางที่จะปิดกั้นบริการแบบนี้ไปทั้งหมด ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร เพราะกรมการขนส่งทางบกก็ต้องยอมรับความจริงว่า บริการแท็กซี่-รถรับจ้างสาธารณะของบ้านเรา ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพของการให้บริการเช่นกัน

ทางออกที่ดีกว่าคือ กรมการขนส่งทางบก ควรเปิดรับบริการรถรับจ้างแบบใหม่ๆ นี้ และพยายามนำรถกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ดีกว่าการปฏิเสธว่ารถแบบนี้ ผิดกฎหมาย และใช้วิธีไล่ล่ากันแบบไม่จบไม่สิ้น

ในอีกด้าน ฝั่งของ Uber และ Grab เอง ก็จำเป็นต้องยอมรับการกำกับดูแลจากภาครัฐด้วยเช่นกัน จะเอาแต่บอกว่าเราเป็นบริการแบบใหม่ ที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลใดๆ และทำตัวผิดกฎหมายไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก

ทางออกที่เหมาะสมคือ กรมการขนส่งทางบก ควรพิจารณาการออกใบอนุญาต รถรับจ้างสาธารณะแบบใหม่ ที่ออกแบบมารองรับบริการรถรับจ้างกลุ่มนี้ ผู้ขับขี่จำเป็นต้องมาขึ้นทะเบียน และตรวจสอบคุณภาพ กับกรมการขนส่งทางบก จากนั้นก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกตลาด ให้รถรับจ้างทั้งสองกลุ่มแข่งขันกัน เพื่อยกระดับการให้บริการในภาพรวม

 

Reviews

Comment as: