Fake News ข่าวปลอม ปัญหาใหญ่ของโลกอินเทอร์เน็ต

By : Isriya Paireepairit


ปัญหาใหญ่ของโลกอินเทอร์เน็ตในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา หนีไม่พ้นเรื่อง “ข่าวปลอม” หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Fake News

ต้องบอกว่าปัญหาข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไป หันมาเสพข่าวจากโลกโซเชียลมากขึ้น จากเดิมที่เคยติดตามข่าวสารจากสำนักข่าวที่มีชื่อเสียง (ซึ่งมีการคัดกรองคุณภาพในระดับหนึ่ง) ก็เปลี่ยนมาเป็นการอ่าน feed หรืออ่านข่าวจากห้องแชทที่ “เพื่อนแชร์มา” โดยเชื่อมั่นว่าเพื่อนของเราคัดกรองข่าวที่เหมาะสมมาให้แล้ว

เมื่อข่าวจากโซเชียลได้รับการยอมรับมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนมากขึ้นจากข่าวทั้งหมดที่เราเสพในแต่ละวัน บวกกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่มักมีแนวโน้ม “เชื่อในสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว” ก็ทำให้ข่าวที่อาจไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริง (fact) แต่ถูกใจคนอ่าน ได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย

ปัจจัยเหล่านี้จึงเอื้อให้เกิดสำนักข่าวหน้าใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก สำนักข่าวเหล่านี้รู้ว่าผู้อ่านชอบข่าวแบบไหน จึงพยายามประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์ข่าวที่คนชอบ เพื่อให้เกิดการไลค์การแชร์จำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือรายได้จากโฆษณาที่มากขึ้นตามไปด้วย และหลายครั้งที่สำนักข่าวบางแห่ง “ล้ำเส้น” ถึงกับ “เต้าข่าว” หรือสร้างข่าวปลอมขึ้นมา จะปลอมทั้งหมด 100% หรือปลอมเพียงบางส่วนก็ได้ทั้งนั้น

ในอดีต ข่าวปลอมแบบนี้อาจจำกัดเฉพาะข่าวเฉพาะด้าน เช่น เนื้อหาด้านสุขภาพ (กินสมุนไพรนี้แล้วจะหายจากมะเร็ง) แต่เมื่อวงการสื่อเปลี่ยนแปลงไป ข่าวปลอมก็เริ่มพัฒนามาเป็นข่าวการเมืองหรือข่าวต่างประเทศ

ประเทศไทยมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมานานหลายปี การสร้างข่าวปลอมเพื่อใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามเกิดขึ้นมานาน และการใช้ช่องทางตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวทำได้ยาก (เช่น การคัดลอกข่าวแล้วส่งต่อผ่าน LINE Group แทนการส่งลิงก์เพื่อไปอ่านยังเว็บไซต์ต้นฉบับ) ก็ยิ่งทำให้ข่าวปลอมระบาดง่ายขึ้น

แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา จุดสูงสุดของปัญหาข่าวปลอมคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งชัยชนะเป็นของมหาเศรษฐีโดนัลด์ ทรัมป์ นั่นเอง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายผู้สนับสนุนทรัมป์ถูกวิจารณ์ว่าสร้างข่าวปลอมขึ้นมา เพื่อเรียกคะแนนเสียงให้กับทรัมป์ หรือโจมตีคู่ต่อสู้อย่างฮิลลารี คลินตัน ผ่านช่องทางเว็บไซต์ข่าวหน้าใหม่ๆ ที่อาจไม่มีชื่อเสียงมากนัก แต่เมื่อสร้างข่าวที่ถูกใจคอการเมือง การนำไปแชร์ต่อเพื่อกระจายในหมู่เพื่อนฝูงคอเดียวกันจึงแพร่หลายอย่างรวดเร็วมาก

ตัวอย่างข่าวปลอมที่ถูกใช้ มีตั้งแต่ ฮิลลารี คลินตัน ให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ไปจนถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับคำยกย่องจากพระสันตะปาปาที่กรุงโรม (เพื่อชักจูงผู้นับถือศาสนาที่เคร่งครัดให้เลือกทรัมป์)

เมื่อทรัมป์ได้รับชัยชนะแบบพลิกโผ ส่งผลให้แวดวงไอทีของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนฮิลลารี คลินตัน) ต้องมาทบทวนตัวเองกันอย่างจริงจังว่าจะแก้ปัญหาข่าวปลอมแบบนี้อย่างไร หัวหอกในเรื่องนี้คือ Facebook และ Google ซึ่งถูกวิจารณ์มาตลอดว่าขยับตัวเรื่องนี้ช้าเกินไป

สิ่งที่ Facebook และ Google ทำ คือ จับมือกับสำนักข่าวบางแห่ง หรือศูนย์วิจัยด้านสื่อสารมวลชน เพื่อสร้างฐานข้อมูลข่าวปลอม และจะขึ้นป้ายเตือนเมื่อผู้ใช้เห็นลิงก์ของข่าวปลอมนั้น ซึ่งก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาข่าวปลอมแก้ไม่ง่าย เพราะการตัดสินว่าข่าวบางข่าวจริงหรือปลอม (หรือปลอมบางส่วน) เป็นเรื่องยาก ต่อให้เป็นมนุษย์ที่มีประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนมาอย่างยาวนานก็ตาม ยิ่งมาบวกกับปริมาณข่าวปลอมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ การแยกแยะโพสต์ในอินเทอร์เน็ตว่าอันไหนเป็นข่าวปลอมให้ได้ตลอดเวลา ยิ่งยากเข้าไปอีก ถือเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขโดยง่ายด้วยการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าช่วย

ผมคิดว่าปัญหานี้จะยังไม่มีทางออกที่เด่นชัดไปอีกหลายปี ระหว่างนี้คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยึดหลักกาลามสูตร อ่านแล้วคิดวิเคราะห์ตามความเป็นจริงกันไปก่อนเท่านั้น

 

Reviews

Comment as: