เมื่อมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก บริจาคหุ้น 99% ให้กับงานเพื่อสังคม

By : Isriya Paireepairit


ข่าวใหญ่ประจำวงการโซเชียลในช่วงนี้คือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก ได้เป็นพ่อคนกับเขาบ้างแล้ว โดยลูกสาวคนแรกของเขาชื่อว่า “แม็กซ์”

ซัคเคอร์เบิร์กจะลาหยุดงานเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อใช้เวลากับลูกสาวแรกเกิด การหยุดงานของเขากลายเป็นประเด็นเชิงนโยบายสวัสดิการพนักงาน เพราะซีอีโอระดับนี้ประกาศหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูบุตร (แบบยังได้ค่าจ้างอยู่) ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวเรื่องการอนุญาตให้ “พ่อ” หยุดงานเพื่อดูแลลูก ควบคู่ไปกับการลาคลอดของแม่ตามกฎหมายปกติ

เฟซบุ๊กเองก็ใช้โอกาสนี้ประกาศให้พนักงานทั่วโลก มีสิทธิลาเลี้ยงดูบุตรได้นาน 4 เดือน โดยที่ยังได้ค่าจ้างตามปกติด้วย (เดิมทีเงื่อนไขนี้ครอบคลุมเฉพาะพนักงานในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น)

แต่ที่เป็นประเด็นใหญ่กว่าเรื่องลาเลี้ยงดูบุตร คือการที่ซัคเคอร์เบิร์กใช้โอกาสที่ลูกสาวคลอด ประกาศว่าเขาจะหันไปสนใจงานด้านการกุศลกับภรรยา โดยจะยกหุ้นเฟซบุ๊ก 99% ของที่เขามีอยู่ให้กับหน่วยงานใหม่ชื่อ Chan Zuckerberg Initiative

หน่วยงานใหม่นี้จะทำงานด้านการศึกษาและสุขภาพ ซึ่งซัคเคอร์เบิร์กมองว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนรุ่นเดียวกับที่ลูกสาวของเขาจะเติบโตขึ้นมา ประเด็นที่เขาและภรรยาสนใจคือการสร้างระบบเรียนรู้แบบใหม่ที่อิงกับผู้เรียนแต่ละคน และใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อซัคเคอร์เบิร์กประกาศข่าวนี้ออกมา หลายคนเปรียบเทียบกับบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ที่หันไปทำงานการกุศล โดยตั้งมูลนิธิร่วมกับภรรยาในลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตาม มีคนตั้งข้อสังเกตว่าซัคเคอร์เบิร์กเลือกไม่ตั้งมูลนิธิ แต่ใช้วิธีตั้งเป็นบริษัทจำกัด (LLC ตามระบบนิติบุคคลของสหรัฐอเมริกา) แทน

ซัคเคอร์เบิร์กออกมาอธิบายเรื่องนี้ โดยบอกว่าเขาจงใจเลือกสถานะนิติบุคคลเป็นบริษัท เพื่อให้การทำงานคล่องตัวกว่ามูลนิธิ การเป็นบริษัทสามารถไปลงทุนในบริษัทอื่นๆ ที่เขาเห็นว่ามีนวัตกรรมล้ำสมัยและเป็นประโยชน์ต่อโลกได้ง่ายกว่า และที่ผ่านมา บริษัทของเขาก็ไปลงทุนในบริษัทแล้วหลายราย ตัวอย่างเช่น โครงการลงทุนด้านพลังงานสะอาดที่นำโดยบิล เกตส์ ก็มีซัคเคอร์เบิร์กอยู่ในทีมมหาเศรษฐีที่ร่วมลงทุนด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ว่าซัคเคอร์เบิร์กเลือกโอนหุ้นเข้าบริษัทเพื่อเลี่ยงภาษีมรดก ซึ่งข้อครหานี้ก็ถูกปัดตกไป เพราะการเป็นบริษัทจะต้องเสียภาษีตามปกติถ้าหากขายหุ้นเปลี่ยนมือในอนาคต

ผมคิดว่าซัคเคอร์เบิร์กไม่ได้สนใจเรื่องการเลี่ยงภาษีหรือรูปแบบของนิติบุคคลเพื่อการกุศลมากนัก เป้าหมายจริงๆ คงเป็นว่าเขาเริ่มอิ่มตัวกับเฟซบุ๊กแล้ว ถึงแม้เขาบอกว่าจะยังอยู่กับเฟซบุ๊กไปอีกนาน แต่ผมคิดว่าบทบาทของเขาในเฟซบุ๊กจะค่อยๆ ลดลง แล้วดันผู้บริหารคนอื่นๆ ขึ้นมาทำหน้าที่แทนมากขึ้น ตัวเขาเองจะหันไปทำงานที่เขาเห็นว่ายังมีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่า เช่น ประเด็นด้านสุขภาพและการศึกษา ในลักษณะเดียวกับที่บิล เกตส์ทำ

กรณีเทียบเคียงอีกอันที่คล้ายกันคือ แลร์รี เพจ ซีอีโอของกูเกิล ที่ช่วงหลังก็ไม่ได้ทำงานบริหารกูเกิลอีกแล้ว และตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Alphabet ขึ้นมาคอยผลักดันเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกเหนือจากเทคโนโลยีด้านไอทีของกูเกิลแบบของเดิม เช่น รถยนต์ไร้คนขับ หรือเทคโนโลยีด้านชีวภาพ

ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้มีความคิดคล้ายๆ กันคือยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกไอทีเรียบร้อยแล้ว และต้องการหาโจทย์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองทั้งในแง่ความยากและท้าทาย รวมถึงผลกระทบที่มีต่อโลกด้วย ส่วนวิธีการนั้นอาจแตกต่างกันไป แต่สุดท้ายแล้วเป้าหมายเป็นอย่างเดียวกันครับ

 

Reviews

Panupong T. Rassameemekin

April 11 2016 at 16:22 PM

อยากเป็นอย่างนี้มั่งจัง กลับมาช่วยสังคมแบบนี้

Comment as:

Sutee Wathanathamsiri

April 11 2016 at 16:40 PM

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เป็นบุคลที่ยกย่องอย่างที่สุด ทำงานเพื่อสังคม

Comment as:
Comment as: