อวสานสื่อกระดาษ? อนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นเช่นไร

By : Isriya Paireepairit


ช่วงต้นปี 2559 เป็นต้นมา ประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างสูงคือ “อนาคตของสื่อเก่า” โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ที่เราเห็นนิตยสารชื่อดังอยู่คู่ฟ้าเมืองไทยมานับสิบปี ต่างทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งจากสื่อดิจิทัล และจากสภาพเศรษฐกิจไทยปี 59 ที่ไม่ค่อยดีเท่าไร จนส่งผลต่องบโฆษณาของบริษัทห้างร้านต่างๆ
การปิดตัวของนิตยสารชื่อดังเหล่านี้ ถือเป็น wake-up call ปลุกให้วงการสื่อไทยหันมาสนใจและถกเถียงกันว่า สุดท้ายแล้วอนาคตของสื่อแบบดั้งเดิมจะเป็นอย่างไร ในยุคที่ “อะไรๆ ก็ดิจิทัล”

บทความตอนนี้ผมขอเน้นไปที่สื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลักก่อน ส่วนสื่อแขนงอื่นๆ อย่างทีวี จะมากล่าวถึงในโอกาสถัดไปครับ

เมื่อพูดถึงสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว คงต้องแยกแยะประเภทของสื่อกลุ่มนี้ให้ชัดเจนก่อน ผมแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือเล่ม
สื่อทั้ง 3 กลุ่มมีธรรมชาติที่แตกต่างกันมาก หนังสือพิมพ์มีวัฏจักรที่รวดเร็วที่สุด (ส่วนใหญ่ออกทุกวัน หรืออย่างช้าก็อาจจะ 3 วัน) ตามด้วยนิตยสารที่เป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือรายเดือน ปิดท้ายด้วยหนังสือเล่มที่ไม่มีรอบการออกตายตัว และหนังสือเล่มแต่ละเล่มมีความเป็นอิสระต่อกัน ต่างไปจากหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่ต้องออกต่อเนื่องตามรอบของตัวเอง

หนังสือเล่ม
หนังสือเล่ม ถือเป็นสิ่งพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบจากดิจิทัลน้อยที่สุด (แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้รับผลกระทบเลยนะครับ) เหตุผลสำคัญคือหนังสือเล่มไม่ต้องแข่งเรื่อง “ความเร็ว” ที่สื่อดิจิทัลได้เปรียบ และมีโมเดลการหารายได้ที่ตรงไปตรงมา สำนักพิมพ์ขายหนังสือหนึ่งเล่มด้วยราคาที่มีกำไรเรียบร้อยแล้ว (จะมากจะน้อยอีกเรื่อง) ไม่ต้องพึ่งพาการโฆษณาเท่าไรนัก

หนังสือเล่มยังมีข้อดีตรงที่หาสินค้าอื่นมาทดแทนได้ยาก ถึงแม้จะมีหนังสือแบบ “อีบุ๊ก” แต่ยังติดข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น เครื่องอ่านอีบุ๊กยังไม่แพร่หลายพอ การอ่านบนแท็บเล็ตอาจไม่สะดวกนัก ช่องทางการซื้อขายยังจำกัด การปรับตัวของผู้บริโภค ฯลฯ

นอกจากนี้ ต่อให้อีบุ๊กมาแข่งกับหนังสือเล่มแบบดั้งเดิม เจ้าของหนังสือก็ยังเป็นรายเดียวกันอยู่ดี ลูกค้าแค่เปลี่ยนจากการซื้อหนังสือเล่มไปเป็นซื้ออีบุ๊กแทน สิ่งที่น่ากลัวกว่าคงเป็นว่า ลูกค้าซื้อหนังสือน้อยลง (เพราะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น) หรือหนังสือละเมิดลิขสิทธิ์ต่างหาก

หนังสือพิมพ์
ธรรมชาติของหนังสือพิมพ์อยู่สุดปลายกับหนังสือเล่ม เพราะเน้นความเร็วของข่าวเป็นสำคัญ และโมเดลของหนังสือพิมพ์อยู่ได้ด้วย “โฆษณา” เป็นหลัก

ความเร็วของหนังสือพิมพ์ ถูกท้าทายโดยอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทุกวันนี้การเสพข่าว “วันละรอบ” ตามรอบของหนังสือพิมพ์เริ่มหมดไป อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์เองก็ปรับตัวเร็ว กลายมาเป็นสำนักข่าวออนไลน์ที่เผยแพร่ข่าวเสียเอง (ต้องยอมรับว่าจะหาองค์กรที่มีพนักงานทำข่าวได้ดีเท่ากับหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวได้ยาก) กลายเป็นว่า ดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ดีกว่าเดิม รวดเร็วทันใจกว่าเดิม

สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ “รายได้” ของหนังสือพิมพ์ในยุคดิจิทัลจะเป็นอย่างไร เพราะต่อให้ทำข่าวเท่าเดิม แต่รายได้จากการโฆษณาอาจจะลดลงไปจากเดิม เพราะมีเว็บไซต์จำนวนมากเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาดกันมากขึ้น ตลาดโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์แบบเดิมที่มีผู้เล่นรายเก่าไม่เยอะนัก และผูกขาดโฆษณากันมาหลายสิบปี กำลังล้าสมัยลงอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่หนังสือพิมพ์ต้องปรับตัว จึงเป็นการปรับโครงสร้างของต้นทุนให้ลดลง การทำข่าวต้องใช้ต้นทุนน้อยลง จากเดิมที่เคยมีผู้สื่อข่าวจำนวนมาก ก็ต้องปรับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้คนจำนวนน้อยลง ซึ่งก็ไม่ง่ายสำหรับองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบเดิมมายาวนาน

ผมคิดว่าหนังสือพิมพ์รายใหญ่ๆ จะสามารถเอาตัวรอดได้ในยุคดิจิทัล ถ้าสามารถปรับตัวได้เร็วพอ (แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการลดจำนวนคนลง) ในขณะที่หนังสือพิมพ์รายย่อยๆ เดิมเคยมีที่ทางของตัวเอง มีกลุ่มแฟนประจำเหนียวแน่น อาจเริ่มอยู่ไม่ได้และต้องล้มหายตายจากกันไป

นิตยสาร
นิตยสาร อยู่ตรงกลางระหว่างหนังสือเล่มและหนังสือพิมพ์ ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสื่อดิจิทัลหนักที่สุด

เหตุผลเป็นเพราะธรรมชาติของนิตยสารไม่ได้เน้นความเร็วฉับไวแบบหนังสือพิมพ์ เนื้อหาไม่ใช่ข่าวรายวัน แต่อยู่ในรูปบทความขนาด 1-3 หน้าซะเป็นส่วนใหญ่ (อาจมีนิตยสารบางประเภทที่เนื้อหายาวกว่านั้น) ในขณะเดียวกัน นิตยสารก็ไม่ได้มีเนื้อหายาวและหนักแน่นแบบเดียวกับหนังสือเล่ม

นอกจากนี้ นิตยสารยังมีลักษณะเป็นการ “รวมเล่ม” (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า bundle หรือมัดรวม) คอลัมน์หรือบทความที่แต่ละชิ้นมักไม่เกี่ยวข้องกัน แต่รวมอยู่ในเล่มเดียวกันที่ออกประจำตามรอบที่กำหนด เพื่อให้ผู้บริโภคหาซื้อได้ง่าย (ดังนั้น การที่เราซื้อนิตยสารมาหนึ่งเล่ม แล้วอ่านเพียงไม่กี่คอลัมน์จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะคนรวบรวมคือบรรณาธิการ ซึ่งอาจมีรสนิยมไม่เหมือนกับผู้อ่านเสมอไป)

เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้เราสามารถเลือกอ่านเป็นบทความได้ โดยไม่ต้องซื้อนิตยสารทั้งเล่ม ด้วยเหตุนี้ จุดเด่นของนิตยสารในอดีตที่ “มัดรวม” เนื้อหาเข้าด้วยกันจึงหมดไป เพราะผู้บริโภคสามารถเลือกอ่านเฉพาะบทความที่ชอบจากสื่อดิจิทัลแขนงต่างๆ ได้โดยตรง

เมื่อบวกกับภาวะที่ต้องพึ่งพิงโฆษณาสูง แต่ไม่สามารถปรับตัวไปเล่นข่าวที่รวดเร็วทันใจแบบหนังสือพิมพ์ได้ นิตยสารจึงอยู่ในภาวะถูกบีบจากยอดโฆษณาที่ลดลง (เพราะโฆษณาเริ่มย้ายไปลงสื่อดิจิทัล) และยอดซื้อนิตยสารที่ลดลง (เพราะคนเสพเนื้อหาแบบเดียวกับนิตยสารจากสื่อดิจิทัลได้)

ทางออกของนิตยสารจึงมีไม่มากนัก ซึ่งก็ขึ้นกับว่านิตยสารแต่ละฉบับจะเลือกไปในทางไหน จากที่เห็นทางเลือกของนิตยสารไทย ก็มีทั้งการปรับตัวให้ออกหนังสือช้าลง แต่เนื้อหาแน่นขึ้น (ไปในทิศทางเดียวกับหนังสือเล่ม) และการหันไปทำนิตยสารแจกฟรี (เล่มบาง ต้นทุนค่าพิมพ์น้อย แต่รายได้จากโฆษณาคุ้มทุนกว่า) ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ในท้ายที่สุดแล้ว นิตยสารจะสามารถอยู่รอดกันได้หรือไม่ในระยะยาว

 

Reviews

Comment as: