วิกฤตแห่ง Uber

By : Isriya Paireepairit


ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Uber ถือเป็นบริษัทสตาร์ตอัพอันดับหนึ่งของโลก ในแง่ของมูลค่าตามราคาหุ้น ตัวกิจการของ Uber มีราคาล่าสุด (เท่าที่เปิดเผยกันในหมู่นักลงทุน) ถึง 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะ Uber ยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์เลยด้วยซ้ำ แต่ก็มีมูลค่ามากกว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากแล้ว

มูลค่าอันมหาศาลของ Uber เกิดจากมุมมองของนักลงทุนว่า Uber เข้ามาปฏิวัติวงการคมนาคมไปอย่างสิ้นเชิง และฐานธุรกิจของ Uber ที่ขยายตัวไปยังหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี

ดังนั้นต่อให้ผลประกอบการของ Uber ยังขาดทุนอย่างมาก นักลงทุนก็ยังมั่นใจว่า รายได้ที่จะเข้ามาในอนาคตเมื่อ Uber ยึดโลกได้แล้ว จะกลับมาชดเชยเงินเหล่านี้ได้หลายเท่า

มุมมองแบบนี้ส่งผลให้ฝ่ายบริหารของ Uber เร่งขยายธุรกิจอย่างหนัก และพยายามทุกวิถีทางเพื่อ “เร่งโต” ให้ธุรกิจตอบสนองความต้องการของนักลงทุน จนส่งผลให้ Uber ขาดสมดุล และละเลยความสัมพันธ์กับบุคคลฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคนขับในเครือข่าย หรือแม้แต่พนักงานของบริษัทเอง

และเรื่องทั้งหมดก็มาแตกโพละในช่วงกลางปี ค.ศ. 2017 นี่เอง

ที่ผ่านมา Uber โดนคดีฟ้องร้องจำนวนมาก ทั้งจากคู่แข่งหลายรายทั่วโลก ที่มองว่า Uber ใช้อิทธิพลของตัวเองมากลั่นแกล้งในเชิงธุรกิจ และจากคนขับในเครือข่ายของ Uber ที่มองว่า บริษัทเอาเปรียบทั้งในเรื่องค่าแรง และการไม่มีสวัสดิการใดๆ ให้เลย (เนื่องจาก Uber มองว่าคนขับคือ “พาร์ทเนอร์” ซึ่งเป็นคำสวยหรูที่ใช้ปฏิเสธว่าคนขับไม่ใช่พนักงาน ไม่ต้องมีสวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน)

แต่ที่อาการหนักจริงๆ คือ พนักงานของ Uber เอง โดยมีพนักงานหญิงรายหนึ่งออกมาแฉว่า วัฒนธรรมองค์กรของ Uber มีการเหยียดเพศ และปล่อยปละละเลยให้พนักงานชายสามารถคุกคามทางเพศต่อพนักงานหญิงอยู่บ่อยครั้ง โดยที่ฝ่ายบริหารของ Uber ไม่สนใจเข้ามาแก้ปัญหานี้เลย

เรื่องความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน (workplace gender equality) เป็นเรื่องใหญ่ของบริษัทจากโลกตะวันตกในปัจจุบัน และเมื่อ Uber มีข่าวฉาวที่เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันของหญิงและชายอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้โลกหันมาจับตาว่าเกิดอะไรขึ้น และมีผู้บริหารระดับสูงของ Uber ที่ไม่พอใจบริษัทในหลายเรื่อง ทยอยลาออกกันไปนับสิบคน

เมื่อบวกกับข่าวฉาวในด้านอื่นๆ และประเด็นความขัดแย้งด้านการเมืองของสหรัฐอเมริกาในช่วงนี้พอดี ส่งผลให้ซีอีโอ Travis Kalanick ต้องลาออกจากตำแหน่ง ออกจากงานในบริษัทที่เขาสร้างขึ้นมากับมือ (แต่เขายังมีหุ้นและมีตำแหน่งในบอร์ด)

กล่าวโดยสรุปคือ Uber เติบโตรวดเร็วเกินไป จนไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งได้ และเมื่อฐานรากไม่สมดุล เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาครั้งใหญ่ บริษัทก็ต้องล้มครืนลง และซีอีโอก็ต้องสังเวยตำแหน่งไปกับความผิดพลาดเหล่านี้

Uber ยังไม่ถึงกับเจ๊งหรือล้มละลาย แต่ก็จำเป็นต้องผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างใหม่ เปลี่ยนแปลงทั้งผู้บริหาร รูปแบบการทำธุรกิจ และวัฒนธรรมองค์กร

ล่าสุด Uber ประกาศถอนตัวจากธุรกิจในประเทศรัสเซียที่มีการแข่งขันสูง และขายธุรกิจนี้ให้กับคู่แข่งจากรัสเซียแทน ถือเป็นประเทศที่ 2 ที่ Uber พ่ายแพ้ และต้องถอนตัวออกมา หลังจากที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมาแล้ว

ส่วนกระบวนการสรรหาตัวซีอีโอคนใหม่ก็ยังไม่เสร็จสิ้นดี เพราะดูเหมือนว่า ตอนนี้ไม่มีใครอยากมานั่งเก้าอี้ร้อนตัวนี้กันสักเท่าไหร่

 

Reviews

Comment as: