ตัวตนบนโลกดิจิทัล

By : Isriya Paireepairit


ผมตั้งชื่อคอลัมน์นี้ว่า All Things Digital โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเว็บไซต์ข่าวไอทีของต่างประเทศแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันเว็บนี้ปิดตัวไปแล้ว แต่ทีมงานยังอยู่ โดยย้ายมาทำเว็บชื่อ Re/code แทน)

ความหมายของชื่อนี้ก็ตรงตัวว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นดิจิทัล” แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของชีวิตและธุรกิจของคนเราในอนาคตอันอีกไม่ไกล ที่จะย้ายจากระบบเดิมมาอยู่บนดิจิทัลทั้งหมด

ย้ำอีกรอบว่า ในมุมมองของผม ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลายเป็นดิจิทัลทั้งหมด ทั้ง 100% ไม่มีข้อยกเว้นนะครับ

แนวคิดนี้อาจดูไม่โรแมนติกนัก (เมื่อพูดว่าหนังสือจะตาย เรามักมีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าหนังสือแบบกระดาษจะอยู่รอด ถูกไหมครับ) แต่ถ้าให้ประเมินแบบใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ผมคิดว่าสุดท้ายแล้ว โลกเกือบทั้งใบก็จะวิ่งเข้าสู่ดิจิทัลอยู่ดี เราเลี่ยงไม่พ้น

น้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำฉันใด ธุรกิจก็จะวิ่งจากระบบเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพและราคาแพง เข้าสู่ระบบดิจิทัลที่คล่องตัวกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า ฉันนั้น
คอลัมน์ตอนนี้จะขอเชิญชวน (และชี้นำ) ท่านผู้อ่านมาร่วมถกประเด็นกันว่า ชีวิตรอบตัวเราจะต้องเปลี่ยนแปลงเพราะดิจิทัลมากน้อยเพียงใด และวิถีปฏิบัติแบบเดิมๆ ต้องต้องเปลี่ยนสภาพกันแค่ไหน

การเปลี่ยนแปลงบางอย่างย่อมเป็นเรื่องดี บางอย่างอาจมีผู้ได้รับผลกระทบและขัดใจอยู่บ้าง แต่ที่แน่ๆ คือคนที่ “เห็นโอกาส” จากกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้และคว้ามันได้ทัน ย่อมสามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างมหาศาล

สำหรับบทความตอนแรก ผมอยากพูดถึง “ตัวตนในโลกดิจิทัล” เพราะอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ผมก็พบว่ายังมีภาคธุรกิจอีกมาก ที่ยังไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องนี้มากนัก

ทุกวันนี้ คนจำนวนมากเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์พกพา ซึ่งคนกลุ่มนี้หลายคนไม่เคยมีคอมพิวเตอร์พีซีมาก่อนเลย สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์สารสนเทศชิ้นแรกที่มี

พฤติกรรมของคนเหล่านี้คือสื่อสารหรือหาข้อมูลผ่าน “แอพ” ซึ่งก็มีแอพดังๆ ที่คนนิยมใช้กันอยู่ไม่กี่ตัว เช่น Google, Facebook, LINE, Instagram, YouTube รูปแบบการใช้งานก็เน้นการแชท โซเชียล บันเทิง เป็นหลัก

คำถามคือเมื่อคนเหล่านี้ต้องการใช้บริการแบบออฟไลน์บางอย่างในโลกความเป็นจริง เช่น กุญแจหายต้องการหาช่างกุญแจ หรือ ปั๊มน้ำพังต้องการหาช่างซ่อม พวกเขาจะทำอะไรเป็นอย่างไร

คำตอบคือ Search หรือค้นหาข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟน และนี่ล่ะครับคือประเด็นสำคัญของคอลัมน์ตอนนี้

ในเมื่อเรารู้ว่ากลุ่มลูกค้าของเราต้องการอะไรในสถานการณ์แบบไหน แล้วเรามี “ตัวตน” อยู่ในพื้นที่ดิจิทัลที่ลูกค้าจะมองหาบริการของเราหรือยัง
ถ้าผมเป็นช่างทำกุญแจย่านลาดพร้าว เวลาคนทำกุญแจหายแล้วค้นคำว่า “ช่างทำกุญแจ ลาดพร้าว” เขาจะเจอข้อมูลของร้านผมหรือไม่

ถ้าผมเปิดร้านอาหารฝรั่งแถววังน้ำเขียว ผมมีตัวตนบนแผนที่ในตอนที่นักท่องเที่ยวหาคำว่า “อาหารฝรั่ง วังน้ำเขียว” หรือเปล่า

ถ้าผมเปิดร้านกาแฟตกแต่งสวยงาม เป็นที่เลื่องลือในหมู่คนรักกาแฟและบอกต่อให้เพื่อนมาชิมกัน ในจังหวะที่เพื่อนได้ยินได้ฟังแล้วอยากรู้ข้อมูล ค้นชื่อร้านใน Facebook แล้วเจอเพจของร้านเราขึ้นมาเป็นอันดับแรกหรือไม่

คำถามทั้งหมดที่เอ่ยมานี้ เกี่ยวกับการสร้าง “ตัวตน” หรือ “ร่องรอย” ของเราบนโลกดิจิทัล ให้คนอื่นมาตามหาและรู้จักเรา

เราพูดเรื่องการทำเว็บไซต์ของธุรกิจเพื่อให้คนรู้จักเรากันมาเป็นสิบๆ ปี แต่ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นธุรกิจอีกมากที่ยังไม่มีตัวตนบนโลกดิจิทัลกันอยู่

เมื่อสิบปีก่อน การไม่มีเว็บอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนัก การลงไกด์บุ๊ก สมุดหน้าเหลือง นิตยสาร หนังสือพิมพ์ อาจช่วยทดแทนกันได้ แต่มาถึงวันนี้ ในยุคที่ผู้บริโภค (โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่) มีพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลทุกสิ่งอย่างในชีวิตผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับแรก การไม่มีตัวตนอาจเป็นผลร้ายมากกว่าที่คิด
คำแนะนำของผมคือธุรกิจใดๆ ก็ตาม ควรไปสร้างร่องรอยไว้บนโลกดิจิทัลบ้าง การสร้างตัวตนขั้นพื้นฐานบนโลกดิจิทัล ใช้เวลาและทรัพยากรไม่เยอะ แต่ผลตอบแทนน่าจะคุ้มค่า

เราไม่จำเป็นต้องจ้างคนมาทำเว็บไซต์ในราคาแสนแพง และจ้างคนมาอัพเดตเนื้อหาตลอดเวลา แต่เราสามารถใช้บริการเว็บไซต์ฟรี แล้วเขียนข้อมูลสั้นๆ ว่าธุรกิจร้านค้าของเราชื่ออะไร เป็นใคร มีผลิตภัณฑ์หรือบริการใดๆ พร้อมทั้งใส่ข้อมูลติดต่อ (เช่น โทรศัพท์, อีเมล, LINE) พร้อมแผนที่เอาไว้ จากนั้นก็ลืมมันไปได้เลย

ข้อมูลที่เราเขียนไว้ย่อมเป็นร่องรอยอยู่บน Google รอคอยวันให้ลูกค้าของเราวิ่งมาค้นหาเราจนพบ

เราสามารถทำแบบเดียวกันได้ทั้งกับพิกัดสถานที่บน Google Maps (เผื่อคนหาผ่าน Maps) หรือสร้างเพจแล้วโพสต์เนื้อหาที่สำคัญบน Facebook เพื่อให้คนที่สนใจหรือได้ยินเรื่องราวของเรามาก่อน สามารถค้นหาและทำความรู้จักกับเราได้

ถ้ามีแรงมากกว่านั้น หรือธุรกิจที่ทำอยู่มีความต้องการมากกว่านั้น จะเซ็ตทีมคอยอัพเดตเนื้อหา ทำการตลาดออนไลน์ โพสต์ภาพลง Instagram หรือโพสต์วิดีโอลง YouTube ได้ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี เพียงแต่อาจยังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องรีบทำในช่วงแรก เท่ากับการมีตัวตนง่ายๆ มีข้อมูลอยู่ใน Google และ Facebook

ผมเชื่อว่าธุรกิจ SME ทุกวันนี้ก็เข้าใจถึงความสำคัญของดิจิทัลกันเป็นอย่างดี เพียงแต่อาจยังไม่ได้ทำเพราะขาดองค์ความรู้หรือวิธีการว่าต้องเริ่มอย่างไร ต้องใช้อะไรบ้าง

อันนี้เป็น “หน้าที่” ของพวกเรา คนรุ่นใหม่ในโลกดิจิทัลด้วย ที่ต้องหันไปมองดูรอบตัวเราเองว่า ยังมีธุรกิจของครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก ที่ยังไม่ได้สร้างตัวตนบนโลกดิจิทัล ด้วยเหตุผลว่าขาดความรู้ความเชี่ยวชาญหรือไม่ ถ้าพบว่ามีธุรกิจแบบนี้อยู่ เราก็ควรต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ ในการย้ายตัวเองเข้าสู่ดิจิทัลให้เร็วกว่าเดิม

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป จนถึงวันที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลกันหมด และธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันเหล่านี้จะค่อยๆ ตายลงไปเอง

 

Reviews

Panupong T. Rassameemekin

April 11 2016 at 16:20 PM

ได้แนวคิดการทำงานเพิ่มขึ้นเยอะเลยครับ

Comment as:

Sutee Wathanathamsiri

April 11 2016 at 17:29 PM

ดีมากเลยคนับ

Comment as:
Comment as: