อนาคตใหม่ของระบบการศึกษา ตอนที่ 2

By : Kamolkarn Kosolkarn


จากบทความอนาคตใหม่ของระบบการศึกษาในตอนที่แล้ว จะได้เห็นถึงตัวอย่างของการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียนหรือจำกัดตามเกณฑ์ผู้เรียนอย่างที่เราคุ้นเคย หรือบทบาทของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป มีฐานะเป็นการใช้เวลาว่าง หรือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุดมากกว่าความจำเป็นต้องเรียนในแบบเดิม บทความตอนนี้เราจะพาไปดูตัวอย่างการเรียนรู้รูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นถึงความหลากหลายของการเรียนรู้นิยามใหม่ในอนาคต

Green-Learning Models

หลายครั้งที่เริ่มเกิดการตั้งคำถามกับระบบการศึกษาในห้องเรียนแบบเดิม ทางเลือกใหม่จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ป่า ให้ต้นไม้ และพื้นที่สีเขียวได้เป็นห้องเรียนของเด็กในเจนเนอเรชั่นต่อไป

นักเขียนและนักเดินทางอย่างเบน โฟเกิล (Ben Fogle) ตั้งข้อสังเกตว่า เด็กๆ นั้นกลายเป็นหุ่นยนต์ที่อยู่ในกล่อง ซึ่งสร้างขึ้นจากระบบการศึกษาของภาครัฐ เขาเชื่อว่าการเรียนรู้นั้นไม่ได้เป็นรูปแบบนี้ แต่ควรเป็นการได้ผจญภัยในพื้นที่กลางแจ้ง เรียนรู้ร่วมกับธรรมชาติ เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าอุปกรณ์การเรียนการสอนรูปแบบไหนๆ ตัวอย่างจาก Deep Green Bush โรงเรียนทางเลือกในนิวซีแลนด์ ที่ให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ภายนอก และนักเรียนใช้เวลาไปกับการเข้าป่าเรียนรู้สิ่งต่างๆ ท่ามกลางต้นเคารี (Kauri trees) ตกปลา ล่าสัตว์ ทำอาหารจากกองไฟ ผู้ก่อตั้งและครูใหญ่คือ โจอี้ มอนคราซ (Joey Moncarz) โรงเรียนที่ไม่มีรายวิชา ไม่มีการบ้าน ไม่มีการสอบ ไม่มีการกดดัน ขอเพียงให้โฟกัสที่การเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิตอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับโรงเรียนอนุบาล Robin Hood Forest ในเยอรมนี ที่อนุญาตให้เด็ก “วิ่งและเดินทางท่องเที่ยว” อย่างอิสระเข้าไปในป่า ภายใต้ปรัชญาของโรงเรียนที่ต้องการให้เด็กได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ให้ป่าเป็นผู้สอน เรียนรู้ชีวิตผ่านการเปลี่ยนแปลงตามแต่ละฤดูกาล ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งที่มีอาการเครียดจากระบบการศึกษาแบบเดิม ทำให้พ่อแม่มองหาทางเลือกใหม่เป็นการเรียนรู้กลางแจ้ง ที่ห้องเรียนเป็นธรรมชาติ ไม่จำกัดอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมอีกต่อไป

เรียนรู้แนวใหม่ สไตล์ซิลิคอน วัลเลย์

เมืองหลวงแห่งเทคโนโลยีอย่างซิลิคอล วัลเลย์ แสดงให้เห็นถึงอนาคตของการศึกษา ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการศึกษาใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามากกว่าท่องจำตำราหรือหนังสือ

AltSchool โรงเรียนทดลองระดับประถมศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นในซิลิคอน วัลเลย์ ไม่มีสนามเด็กเล่น ไม่มีครูใหญ่ ไม่มีอะไรเหมือนกับการเรียนแบบเดิมอย่างที่คุ้นตา โรงเรียนแห่งนี้ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “micro-school” หรือโมเดลการเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาออกแบบโปรแกรมการศึกษาให้ตรงกับความสนใจของนักเรียนแต่ละคนโดยเฉพาะ ตารางเรียนแบบสั่งได้เฉพาะนี้เป็นไปได้จริงด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี เช่น เลนกว้างที่ฝังอยู่ในผนังพร้อมชุดคำสั่งตรวจจับการเคลื่อนไหวของเด็กแต่ละคน เพื่อนำข้อมูลไปให้ปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลเพื่อคิดค้นตารางการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อไป

หรือโรงเรียนข่าน แลป (Khan Lab School) ที่นำเสนอรูปแบบการเรียนใหม่ ผู้ก่อตั้งอย่าง ซัลแมน ข่าน (Salman Khan) มีมุมมองว่า โลกเสมือนสามารถเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือให้กับการเรียนรู้ทางกายภาพจริงได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าห้องเรียนจริงจะถูกแทนที่ด้วย VR หรือ AR แต่ศักยภาพของห้องเรียนจะถูกขยายขอบเขตให้กว้างมากยิ่งขึ้น ด้วยการที่นักเรียนสามารถเข้าถึงประสบการณ์การเรียนรู้แบบกลุ่ม ไม่มีการแบ่งตามอายุ แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนทักษะและความรู้จากกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกัน

อีกหนึ่งตัวอย่างจาก Brightworks ในซานฟรานซิสโก โรงเรียนที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงเรียนสำหรับเหล่าเมคเกอร์และนักประดิษฐ์ สิ่งที่ใช้เป็นใบสมัครเข้าโรงเรียน คือ ความสงสัยใคร่รู้ ความรักในการเรียนรู้ และการคิดการใหญ่ โรงเรียนแห่งนี้สนับสนุนการเรียนรู้แบบผสมกลุ่มอายุคล้ายกับข่านแลป เพื่อช่วยให้กระบวนการเรียนรู้ในความแตกต่างและเข้าใจในความหลากหลายได้มากที่สุด

ซิลิคอน วัลเลย์ จึงเป็นเหมือนหนึ่งทางเลือกและความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองว่าเป็นความหวังใหม่ของระบบการศึกษา ในฐานะการสร้างทางเลือกที่เป็นมาตรฐานและสร้างอิสระในการเรียนรู้แห่งอนาคต

 

Reviews

Comment as: