สู่สังคมไร้เงินสด กับการจ่ายเงินด้วย QR Code

By : Isriya Paireepairit


ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายท่านน่าจะเห็นแคมเปญโฆษณาของธนาคารหลายราย ที่แข่งขันนำเสนอบริการ “จ่ายเงินด้วยแอพ” ด้วยการสแกน QR Code กันอย่างคึกคัก

QR Code ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในเมืองไทยสักเท่าไรนัก ตัวเทคโนโลยีเป็นการเข้ารหัสข้อความให้อยู่ในรูปบาร์โค้ด 2 มิติ (แบบเดียวกับบาร์โค้ดที่แปะสินค้า แต่ทำเป็น 2 มิติ คือ แนวตั้งและแนวนอน จุตัวอักษรได้มากกว่าเดิม) เพื่อให้กล้องสามารถอ่านแล้วแปลความได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์กรอกคำอธิบายด้วยมือ

ก่อนหน้านี้เราอาจเคยเห็นการใช้ QR Code กับการดาวน์โหลดแอพ หรือชี้ไปยังเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งก็มีการใช้งานบ้างประปราย แต่ QR Code ได้รับความนิยมในประเทศไทยในช่วงที่ LINE เฟื่องฟู ทุกคนมีสมาร์ทโฟนและสามารถแอดเป็นเพื่อนกันใน LINE ด้วยการใช้กล้องมือถือสแกน QR Code นั่นเอง

QR Code ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายกับการจ่ายเงินด้วยสมาร์ทโฟน เริ่มจากในประเทศจีนที่นิยม WeChat Pay และ Alipay ซึ่งเราอาจเคยเห็นข่าวแม่ค้าข้างถนนหรือขอทาน ก็มี QR Code เพื่อให้คนอื่นสแกนแล้วจ่ายเงินเข้าบัญชีตัวเอง

ในประเทศไทยก็ดำเนินตามรอยของจีน เพียงแต่ในประเทศไทยเป็นความริเริ่มมาจากฝั่งธนาคารและภาครัฐ แทนที่จะเป็นแอพจ่ายเงินตัวใดตัวหนึ่ง

สิ่งที่น่าสนใจคือ QR Code ที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินของไทย เป็นการวางมาตรฐานร่วมกันของภาคการธนาคาร ทำให้ประเทศไทยมี QR Code มาตรฐานกลางอันเดียวสำหรับผู้ให้บริการทุกราย สามารถใช้งานข้ามค่ายกันได้ด้วย

หลักการทำงานของ QR Code ในประเทศไทยไม่มีอะไรซับซ้อน มันคือการจ่ายเงินด้วยพร้อมเพย์ (ดังนั้นผู้รับเงินจะต้องผูกบัญชีกับพร้อมเพย์ก่อน) เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการกรอกข้อมูล แทนที่ผู้จ่ายเงินต้องพิมพ์เบอร์โทรศัพท์หรือเลขประจำตัวประชาชนเอง ก็เปลี่ยนมาเป็นการสแกน QR Code จากแอพของธนาคารได้ทันที เพื่อให้สะดวกรวดเร็วขึ้น

ตามแผนฯ ของภาครัฐ การจ่าย QR Code จะยังพัฒนาต่อได้อีกมาก เช่น สามารถระบุยอดเงินลงใน QR หรือมีระบบข้อความแจ้งเตือนผู้รับเงินว่าเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตรงนี้คงต้องค่อยๆ พัฒนากันต่อไป

สิ่งที่ผมคิดว่าท้าทายกว่าตัวเทคโนโลยีมาก คือการประยุกต์ใช้และการยอมรับจากผู้บริโภค สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้เงินสดเป็นแกนหลักมานาน การจะเปลี่ยนมาเป็นสังคมไร้เงินสดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผลักดันให้ผู้บริโภคคุ้นเคยและไว้ใจการจ่ายเงินแบบดิจิทัลเสียก่อน

เราจะเห็นได้ว่าธนาคารหลายราย ใช้วิธีกระตุ้นตลาดโดยจับมือกับร้านค้าในย่านสำคัญ เช่น สยามสแควร์ ตลาดนัดจตุจักร หรือร้านอาหาร ร้านกาแฟเจ้าดัง เพื่ออาศัยฐานลูกค้าของร้านค้าเหล่านี้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้ลองจ่ายเงินด้วยแอพจริงๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกันตั้งแต่ตอนนี้นั่นเอง

 

Reviews

Comment as: