สอนลิงทำการบ้าน

By : Dr.Piyapong Sumettikoon


เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุให้ผมต้องติดค้างอยู่ที่สนามบินนานาชาติแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศไทย ระหว่างการรอคอยก็ได้ประสบกับเหตุการณ์ที่ยังมีอยู่จริงและฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมการเลี้ยงดูลูกหลานในสังคมไทย ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสมองของเยาวชน สังคม และประเทศชาติ ยากที่จะแก้ไข

ผมสังเกตเห็นพ่อสั่งให้ลูกชายวัย 5-8 ปี สองคนเปิดกระเป๋าเป้แล้วเอาสมุด หนังสือ และดินสอออกมาทำการบ้าน หลังจากที่ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ เด็กทั้งสองยื่นสมุดให้พ่อ พ่อใช้เวลาตรวจสมุดเล่มแรกไม่กี่วินาทีก็สั่งให้ลูกคนที่ 1 แบมือออกมาแล้วก็ใช้ปากกาตีลงไปที่มืออย่างแรงหลายที โดยขณะที่ตีก็พูดย้ำๆว่า “สอนกี่ครั้งแล้วทำไมไม่จำ ทำผิดอยู่ได้ ไม่ตั้งใจเลย”  เด็กแสดงอาการกลัวการทำโทษและอายคนรอบข้างอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็รีบรับสมุดกลับมาพร้อมกับเอายางลบถูไปที่สมุดแล้วก็เริ่มขีดเขียนใหม่ ลูกคนที่ 2 นั่งตัวแข็งทื่อรอฟังคำพิพากษาจากพ่อ  แต่คราวนี้ไม่มีการสั่งให้ลูกคนที่ 2 แบมือ ไม่มีคำด่าทอ และก็ไม่มีคำชม แต่พ่อกลับสื่อสารตรงกลับไปยังลูกคนที่ 1 ว่า “หัดดูน้องเป็นตัวอย่างบ้างนะ น้องอายุน้อยกว่าแต่เก่งกว่าหลายเท่า” ลูกคนที่ 1 เริ่มมีน้ำตาคลอเบ้าอย่างเห็นได้ชัด แล้วคุณพ่อก็ยื่นลูกอมให้กับลูกคนที่ 2 หนึ่งเม็ด

ลูกคนโตแก้ไขการบ้านและถูกตีด้วยปากกาอยู่อีกหลายรอบจนกระทั่งสามารถทำได้ถูกต้องทั้งหมด แล้วในที่สุดพ่อก็ยื่นลูกอมให้ลูกคนที่ 1 ในฐานะที่ผมเคยเป็นครูและเคยดูแลการเรียนรู้ของเด็กระดับประถมศึกษามาก่อน ผมควรจะลุกขึ้นแล้วเข้าไปคุยกับพ่อของเด็กทั้งสองคนว่าไม่เพียงแต่ว่าคุณกำลังทำร้ายร่างกายลูกของคุณ แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือคุณกำลังทำร้ายจิตใจของลูกอย่างไม่น่าให้อภัย

การทำการบ้านผิดไม่ควรส่งผลเป็นความเจ็บปวดทางกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมองด้านความรู้สึก สามารถก่อให้เกิดความเกลียดชังการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตได้  การทำการบ้านถูกก็ไม่ควรได้รางวัลเป็นลูกอมเช่นกัน เพราะนั่นก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างอุปนิสัยและทัศนคติด้านการทำเพื่อหวังผล พัฒนาการทางสมองของเด็กในวัยนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและเด็กไม่ควรต้องมาประสบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่เป็นบุพการี แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายและกฎระเบียบของสังคมที่ให้สิทธิของผู้เป็นพ่อแม่สามารถเลือกที่จะเลี้ยงดูบุตรหลานตามแต่ตนเห็นเหมาะสม ผมจึงทำได้แค่เพียงนั่งสงบสติอารมณ์ และคอยควบคุมตนเองไม่ให้ลุกขึ้นทำอะไรที่เกินขอบเขตหน้าที่ของตน

ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงประสบการณ์ตอนเป็นเด็กที่ได้เคยเข้าชมการฝึกลิงให้เล่นลิเก ผู้ฝึกจะใช้วิธีการทำโทษด้วยการเอาไม้หวายหวดไปตามลำตัวลิงซ้ำๆจนกว่าลิงจะทำได้ตามคำสั่ง โดยมีรางวัลเป็นขนมปังปี๊บชิ้นเล็กๆ แล้วทำไมพ่อถึงได้ปฏิบัติต่อลูกของตนเหมือนกับการฝึกลิง พ่อควรถนอมสมองของลูก พัฒนาสติปัญญาและอารมณ์ด้วยการพูดคุยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล ชี้แนะวิธีการที่ถูกต้อง สร้างทัศนคติและแรงบันดาลใจ สร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ด้วยการสร้างความภูมิใจในการฝึกปฏิบัติหน้าที่ของตนจนสำเร็จ โดยไม่ใช้รางวัลเป็นเงื่อนไขให้เกิดการต่อรองในระดับที่สูงต่อไปอย่างไม่จำเป็น นอกจากนั้นวิธีการตีวัวกระทบคราดที่พ่อใช้มีแต่จะกรีดบาดแผลทางใจให้ลึกและกว้างขึ้น ก่อให้เกิดการอิจฉาริษยากันระหว่างพี่กับน้อง เป็นการแข่งขันที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต

พ่อแม่ในยุคปัจจุบันเติบโตมาท่ามกลางสภาพการแข่งขันสูง เมื่อมีลูกก็ย่อมมีความหวังให้ลูกได้ขยับมาอยู่แนวหน้าของการแข่งขันด้วยค่านิยมและความเชื่อว่าเป็นผลดีต่อตัวลูกเองในสภาพสังคมที่เป็นอยู่  ผมไม่ขอเถียงและไม่ขอก้าวก่ายความคิดนี้ ผมเพียงแค่อยากจะขอให้พ่อแม่เลือกวิธีการที่สร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสมองและการพัฒนาสติปัญญา ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของลูกด้วยเป็นสำคัญครับ

 

Reviews

Comment as: