ความสำเร็จของ Hyperloop (ตอนที่ 1)

By : Jakkrit Siririn


Hyperloop คือระบบขนส่งผู้โดยสารและสินค้าภาคพื้นดิน ในลักษณะเดียวกับรถไฟหรือรถราง ทว่า Hyperloop ไม่ใช่การขนส่งระบบราง เพราะใช้อุโมงค์รูปลักษณ์ท่อขนาดใหญ่วางยาวต่อๆ กันคล้ายท่อขนส่งน้ำมัน โดยท่อของ Hyperloop เป็นระบบท่อสุญญากาศ

Hyperloop เป็นระบบขนส่งที่มีความเร็วสูงกว่าและปลอดภัยกว่าเครื่องบิน การขับเคลื่อนอาศัย STATOR วางแนวไว้ด้านล่างของขบวนรถไฟ ซึ่งเป็นระบบมอเตอร์แม่เหล็กไฟฟ้า ส่วนที่ติดตั้งกับตัวรถเรียกว่า ROTOR ทำความเร็วสูงสุดได้ 760 ไมล์ต่อชั่วโมง มันจึงวิ่งจากลอสแอนเจลิส ไปยังซานฟรานซิสโก ด้วยเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อมาสำหรับ Hyperloop ก็คือท่อแรงดันอากาศต่ำ ที่ใช้สำหรับลดแรงเสียดทานระหว่างโบกี้รถไฟกับตัวท่อ โดยมีพัดลมยักษ์ซึ่งติดตั้งไว้ที่ด้านหน้าสุดของตัวรถ เพื่อให้แรงดันอากาศต่ำเจอกับภาวะสุญญากาศ และการขับเคลื่อนของ STATOR และ ROTOR ก็จะทำให้ขบวนรถไฟ Hyperloop เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดี ในช่วงเริ่มต้น ความคืบหน้าของ Hyperloop เป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากประสบปัญหาในด้านการจัดการแรงเสียดทานและความต้านทานทางอากาศ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ได้กลายเป็นรูปธรรมเมื่อยานพาหนะเข้าใกล้ความเร็วสูง

ทั้งๆ ที่แนวคิดของในทางทฤษฎี Hyperloop นั้น มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะขจัดอุปสรรคดังกล่าว โดยการใช้ระบบการเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ร่วมกับระบบสุญญากาศในท่อขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถใช้ความเร็วได้หลายพันไมล์ต่อชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่สูงของโครงการ Hyperloop ในช่วงเริ่มต้น ยังพบกับความยากลำบากในการรักษาสุญญากาศในระยะทางขนาดใหญ่ที่ทำให้ระบบดังกล่าวยังไม่สามารถสร้างได้

แนวคิด Hyperloop ริเริ่มโดย Elon Musk ในปี ค.ศ.2012 โดยในปี ค.ศ.2013 ร่างพิมพ์เขียวของเขาก็ได้รับการเผยแพร่เป็นเอกสารการออกแบบเบื้องต้น ซึ่งรวมถึงเส้นทางที่แนะนำจากลอสแอนเจลิสถึงซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นแนวทางเดินรถเชื่อมระหว่าง 5 รัฐ

จากการวิเคราะห์เบื้องต้นระบุว่า เส้นทางดังกล่าวอาจใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าที่คาดไว้ 5 นาที ซึ่งหมายความว่าผู้โดยสารจะเดินทางข้ามระยะทาง 350 ไมล์ หรือราว 560 กิโลเมตร โดยใช้ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 600 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 970 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากความเร็วสูงสุด 760 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงดังที่กล่าวไป

มีการประมาณการค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับเส้นทางลอสแอนเจลิส ไปยังซานฟรานซิสโก ถูกเสนอไว้ที่ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการขนส่งเฉพาะผู้โดยสาร และ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการขนส่งสินค้า

Hyperloop One ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2014 มาถึงปีนี้ คือปี ค.ศ.2017 เท่ากับว่า ใช้เวลาเพียง 3 ปี นับตั้งแต่ Elon “The Ironman” Musk นั่งฝันถึงพาหนะเดินทางภาคพื้นดินที่เร็วกว่าและปลอดภัยกว่าเครื่องบิน โดยในปีนั้นเอง เขาได้สร้างทีมวิศวกรอากาศยานและทีมวิศวกรขนส่งระบบรางจำนวน 200 คนเป็นทีมงานบุกเบิกเพื่อสร้าง Hyperloop ในเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลก

โดยบริษัทได้ทำการระดมทุนจากนักลงทุนมากกว่า 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น DP World, Sherpa Capital, Formation 8, 137 Ventures, Capital Venture Capital, Fast Digital, GE Ventures และ SNCF

ปัจจุบัน Hyperloop One ประธานบริหาร Shervin Pishevar ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ Elon Musk เขาเป็นหนึ่งในสองผู้ก่อตั้งร่วมกับ Josh Giegel วิศวกรแห่ง SpaceX ของ Elon Musk

โดยเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ปี ค.ศ.2016 Hyperloop One ดำเนินการทดลองใช้เทคโนโลยี Hyperloop ครั้งแรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามอเตอร์ไฟฟ้าที่กำหนดไว้สามารถขับเคลื่อนได้เอง โดยเลื่อนจาก 0 ถึง 110 ไมล์ต่อชั่วโมงภายในเวลาเพียงหนึ่งวินาที

 

Reviews

Comment as: