กราฟฟิตี้ ศิลปะเปลี่ยนโลก

By : Pantavit Lawaroungchok


ในครั้งนี้เราจะขอพูดถึงงานศิลปะ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน The Fifth Element องค์ประกอบสำคัญมากที่เกี่ยวพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวัฒนธรรม Hiphop จนยากที่แยกร่างออกจากกันได้ นั่นก็คือ “กราฟฟิตี้” การวาดหรือการพ่นสีลงบนกำแพงหรือผนังเพื่อบอกเล่า ระบายสิ่งที่นึกคิด วิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึงการสร้างเครื่องหมายบ่งบอกถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่ของคนในชุมชนแออัดและเด็กสลัมกลุ่มเล็กๆ ที่มักจะทำขึ้นควบคู่ไปกับการจัดแสดงดนตรี Hiphop… จากในอดีตคนในสังคมเคยปรามาส มองการกระทำเหล่านี้เป็นการรบกวน สร้างความเดือดร้อน สร้างมลพิษทางสายตา (Visual illusion) ให้กับผู้คนในเมือง… ผู้ที่เป็นศิลปินต่างต้องแอบหลบๆ ซ่อนๆ ในการสร้างผลงานแต่ละครั้ง… จนถึงขั้นจำกัดงานศิลปะแขนงนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “อาชญากรรม” ไม่ต่างจากคนสัก Tattoo ที่คนในสังคมส่วนใหญ่ต่างมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของ “อาชญากร” หรือ “คนขี้คุก”

รูปแบบของศิลปะร่วมสมัยอย่างกราฟฟิตี้นั้นมีอยู่หลากหลาย ทั้งเป็นรูปแบบของ Typographic เป็นลักษณะของ Font design ที่เขียนชื่อแสดงตัวตนของตนเองไปจนถึงบ่งบอกแนวความคิดหรือสิ่งที่อยากจะบอกเล่าสู่สังคม… บางแห่งเป็นรูปแบบของภาพไม่ว่าจะเป็นตัวการ์ตูนตัวคาแรคเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นลายเซ็นที่ชัดเจนของศิลปินเอง ไปจนถึงภาพวิว ทิวทัศน์หรือภาพที่ล้อเลียน (Parody) กับเรื่องราวต่างๆ ในสังคมหรือบริบทที่ภาพนั้นตั้งอยู่… เมื่อโลกวิวัฒนาการตามยุคสมัย เมืองใหญ่ๆที่ขยายตัวขึ้นพร้อมๆกับเทคโนโลยี จากขยะทางสายตาสู่การเป็นสื่อสาธารณะชั้นยอดที่ผสานเรื่องราวไปกับพื้นผิวของเมือง (Urban Surface) ไม่ต่างจากป้ายบิลบอร์ดหรือป้ายโฆษณาที่แพร่กระจายจนเห็นกันเกลื่อนเมืองใหญ่ๆของโลก… ร่วมด้วยกับการเกิดขึ้นของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ยิ่งทำให้ผนังหรือกำแพงที่มีศิลปะกราฟฟิตี้กลับกลายเป็น Photo Wall สร้างพื้นหลังให้กับผู้คนเพื่อใช้ในการถ่ายรูปคู่กับแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของตัวเอง… งานอีเว้นท์หลายๆ งานก็ใช้ศิลปะกราฟฟิตี้เป็นพระเอก สร้างโมเมนต์การถ่ายภาพแล้วแชร์ต่อเนื่องไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งทำให้ศิลปะแขนงนี้ไม่ได้อยู่เพียงแต่บนพื้นที่เฉพาะเหมือนอย่างในอดีตอีกต่อไป

ในอดีตภาพกราฟฟิตี้ส่วนใหญ่นั้น จะอยู่กันตามบริเวณที่เป็นพื้นที่ที่ถูกลืม เสื่อมโทรม อย่างเช่น ผนังในอาคารร้าง กำแพงในซอยเปลี่ยว ไปจนถึงประตูรั้วหน้าบ้าน โดยเฉพาะในบ้านเรา เราจะคุ้นตากับ “เด็กช่างกล” บางส่วนก็ใช้วิธีนี้ในการประกาศศักดาของชางแก๊งค์ สร้างความเดือดร้อน โดยการไปพ่นบนพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต เกิดความเสียหายต่อผู้คน ทำให้ศิลปินกราฟฟิตี้จริงๆ ต้องแอบซ่อนตัวเพื่อทำงาน โดยไม่ให้โดนจับและมีผู้คนพบเห็น…. แต่ภาพลักษณ์ไม่ดีๆ ต่อศิลปะกราฟฟิตี้ก็เริ่มเปลี่ยนไป อย่างในกรุงเทพมหานคร ไม่นานนี้ได้มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยความร่วมมือของคุณ Myrtille Tibayrenc เเห่ง Toot Yung Art Center และคุณ Nicolas Dali แห่ง Kuoz ในปี 2016 นี้ ทั้งสองได้กลับมาร่วมมืออีกครั้งในการจัดเทศกาล Street art, Illustration และ Music Festival ได้จัดงาน BUKRUK STREET ART FESTIVAL 2016 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 31 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา โดยการให้ศิลปินกราฟฟิตี้จากหลากหลายประเทศได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นไทย สเปน เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ กรีซ ญี่ปุ่น เป็นต้น ถือเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเอเชีย-ยุโรปอีกด้วย ในส่วนพื้นที่จัดงานกลางแจ้งของเหล่าศิลปินทั้งหมดนี้ถูกสร้างสรรค์ผ่านการระบายสี วาดภาพบนกำแพง เพ้นท์ บนฝาผนัง ข้างตึกหลายๆ จุดในเขตบางรัก สี่พระยา สุรวงศ์ ตลาดน้อย และถนนทรงวาด

จะเห็นได้ว่าผลงานของเหล่าอาร์ทติสท์เหล่านี้ได้แทรกเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทั้งในบริเวณชุมชนและถนนที่มีผู้คนสัญจรไปมา “เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูงานศิลปะที่จัดขึ้นในมิวเซียมอย่างเดียวต่อไปอีกแล้ว ศิลปะนั้นเข้าใจง่าย เป็นเรื่องไม่ไกลตัวสำหรับพวกเขาอีกต่อไป” และที่น่าสนใจไปกว่านั้นได้เกิดความร่วมมือจากการทำงานของคนท้องถิ่นกับศิลปิน เกิดการค้าขาย สร้างกิจกรรม ฟื้นฟูพื้นที่เปลี่ยว พื้นที่ที่เสื่อมโทรมบางจุดให้มีชีวิต ปลอดภัย เป็นสีสันใหม่ๆ สร้างรายได้ให้กับชุมชนในระดับของการพัฒนาย่านในเมือง… พื้นที่ศิลปะสาธารณะเหล่านี้กลายเป็น photogenic space ให้กับคนดูทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมืองที่คนรุ่นใหม่ไม่ควรพลาด…

และขอยกอีกเคสตัวอย่างกับผลงานศิลปินที่เกิดจากการวาดกราฟฟิตี้ จนตอนนี้หากเราเห็นผลงานของเขาก็ต้องร้องอ๋อ กับ “KAWS” (คอว์ส) หรือในชื่อจริงว่า Brian Donelly (ไบรอัน โดเนลลี) ศิลปินสัญชาติอเมริกัน เขาไม่ต่างจากกราฟฟิตี้คนอื่นๆ ที่เริ่มต้นซุ่มแสดงผลงานตามท้องถนน ใช้สเปรย์สีวาดภาพทับภาพโฆษณาที่ติดตั้งอยู่ในที่สาธารณะจนผลงานเป็นที่ติดตา สร้างคาแรคเตอร์ของตัวการ์ตูนในชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Skully, Bendy, Companion ที่ใช้คาแรคเตอร์นี้มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อประมาณปี 1997 เขาก็ได้รับข้อเสนอให้นำคาแรคเตอร์นี้ ไปสร้างเป็นฟิกเกอร์ออกจำหน่ายเป็น Limited Edition Collection… จากผลงานครั้งนั้น ทำให้ผลตอบรับดีมาก ได้รับความนิยมมากทั้งในหมู่นักสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมการสะสมฟิกเกอร์การ์ตูน ส่งผลต่อให้คอว์สเองได้มีโอกาส “collab” กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น Bearbrick Nike A Bathing Ape หรือ COMME des GARÇONS เป็นต้น… ผลงานของเขาได้กระจายไปทั่วโลก เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเราโดยไม่ทันได้สังเกต
คอว์สได้นำซิกเนเจอร์ของตนเองที่ถือเป็นผลงานศิลปะไปเชื่อมต่อกับงานแขนงอื่นๆ… นำศิลปะของเขาไปอยู่ในบริบท “Commercial” และสร้างผลงาน fine art นำมาจัดเป็นนิทรรศการ หรือเปิดแบรนด์ของตนเองในชื่อ “OriginalFake” (2016 – 2013) เพื่อออกแบบเสื้อผ้าแนว Streetwear ของเล่น และของใช้ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว… มีหน้าร้านอยู่ในย่านแฟชั่นชั้นนำของโลกย่านหนึ่งอย่าง “อาโอยามะ กรุงโตเกียว” โดยร่วมทุนกับ NEXUSVII แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติญี่ปุ่นและ Medicom Toy ก่อนที่จะมีวางจำหน่ายตามร้าน Streetwear ดังๆ ทั่วโลก… โดย KAWS ยังคงออกแบบโดยรักษาคอนเซ็ปต์เดิมไว้ได้อย่างดี และได้นำเอาคาแรคเตอร์เก๋าๆ ระดับตำนานของแบรนด์เข้ามาร่วมงานด้วย อาทิเช่น คาแรคเตอร์ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีอยู่แล้วอย่าง มิกกี้เม้าส์ สนูปปี้ เป็นต้น… นำมาปรับเปลี่ยน ผสมผสานให้เข้ากับดีไซน์ ทั้งซี่ฟัน กากบาท หัวกระโหลก และกระดูกไขว้ มีลักษณะเป็นศิลปะล้อเลียน (parody) ที่ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความทรงจำย้อนหลังกับคาแรคเตอร์ที่เคยคุ้นตามาในอดีตกับการออกแบบบนบริบทใหม่… เป็นที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการแก่นักสะสมต้องตามเก็บตามซื้อ แต่ละ collection หมดไปในเวลาอันรวดเร็ว… นอกจากนี้ราคา Official เปิดจำหน่ายนั้นก็ว่าแพงอยู่แล้ว หากเช็คราคาใน Ebay.com หรือเว็บ reseller ที่รับซื้อ – ขายของหายากทั่วโลกแล้ว ราคาพุ่งไปไกลมากไปฉุดไม่อยู่แล้ว

“กราฟฟิตี้ องค์ประกอบที่ 5 ของวัฒนธรรมฮิปฮอปไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพเลอะๆ ของคนสลัมบนผนังอีกต่อไปแล้ว โลกยุคใหม่ได้ต้อนรับมันเป็นศิลปะ Pop Culture ที่เข้ามาใกล้กับชีวิตความเป็นอยู่มากขึ้น ผ่านลวดลายศิลปะกราฟฟิตี้ในบริบทรูปแบบของ”สินค้า” ที่สามารถส่งเสริมให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นแพร่กระจายไปสู่ผู้คนทั่วโลก ไปจนถึงการพัฒนาย่าน เปลี่ยนแปลงเมืองแก้ไขปัญหาในระดับชาติ… แต่ถึงรูปแบบมันจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไร “กราฟฟิตี้” ก็ยังคงกลไกที่มาจากรากเหง้าวัฒนธรรมฮิปฮอป เป็นเครื่องมือที่ใช้ถ่ายทอดความคิด ทัศนคติ ความรู้สึกกับการต่อสู้ของระบบชนชั้นในสังคม เพียงแต่ติดอาวุธหนักเพิ่มเข้าไปในช่องทางการสื่อสารที่อาจจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ผนังเก่าๆ” ในตึกร้าง แต่มันเป็น “สิ่งของ” ทุกสิ่งทุกอย่างใกล้ๆ ตัว ที่ทุกคนต้องใช้ใน “ชีวิตประจำวัน”

ที่มา

หมายเหตุ : ภาพนี้จัดทำเพื่อใช้ประกอบบทความเท่านั้น ไม่ได้นำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ ห้ามนำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

Reviews

Comment as: