บนโลกออนไลน์ คุณได้เรตติ้งเท่าไหร่?

By : Jitsupa Chin


เรามาลองนึกกันเล่นๆ ดีไหมคะ ว่าถ้าหากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอที่เราโพสต์บนเฟซบุ๊ก ข้อความที่เราเขียนบนทวิตเตอร์ หรือภาพที่เราแชร์บนอินสตาแกรม ถูกนำมาคิดคำนวณด้วยสูตรอะไรบางอย่าง แล้วตีค่าออกมาเป็น “คะแนน” ให้กับตัวเราในชีวิตจริง สถานการณ์มันจะยุ่งวุ่นวายโกลาหลสักแค่ไหน
.
อันที่จริงแล้วเราอาจจะไม่ต้องเริ่มวาดภาพตั้งแต่ศูนย์ค่ะ หากใครเคยดูซีรีส์เรื่อง Black Mirror บน Netflix ซีรีส์ที่ฉายให้เห็นถึงด้านดำมืดของเทคโนโลยีที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต ก็น่าจะได้ชมเอพิโสดที่มีชื่อว่า Nosedive ซึ่งเอพิโสดนี้เป็นหนึ่งในตอนโปรดของซู่ชิง และเป็นไปตามคอนเซ็ปต์เรื่องให้คะแนนที่บอกมาเป๊ะๆ
.
พล็อตเรื่องคร่าวๆ ของ Nosedive ก็คือ โลกในอนาคตทุกคนจะให้คะแนนกันและกัน คล้ายๆ กับที่ทุกวันนี้เรากดไลค์ หรือกดเลิฟ ให้กับเพื่อนเราบนโซเชียลมีเดียนั่นแหละค่ะ คะแนนที่เราได้ก็จะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม หากเราได้คะแนนเฉลี่ยน้อย คนก็จะแขยงไม่อยากเข้าใกล้ เพราะกลัวว่าการมาเสวนาด้วยจะทำให้คะแนนของพวกเขาแปดเปื้อนได้ ส่วนคนที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงๆ ก็ใช้ชีวิตราวกับอยู่ยูโทเปีย เดินเฉิดฉายไปมาอย่างสวยงาม สิทธิพิเศษเพียบ ระบบนี้ทำให้ทุกคนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงแสนเชื่อง ต้องเสแสร้งเป็นคนดีให้ได้มากที่สุด หรือไม่ก็ต้องเฮโลตามสังคมส่วนใหญ่ไปจะได้ไม่ถูกลดคะแนนและตราหน้าว่าเป็นพวกคนนอกรีต
.
ฟังดูหดหู่มากเลยใช่ไหมล่ะคะ ซู่ชิงก็จำได้ว่าดูจนจบเอพิโสดแล้วมันก็ทิ้งความรู้สึกหนักๆ ให้อยู่ในใจไปอีกสักพักเลยเหมือนกัน เพราะจะว่าไปเราก็ไม่ได้ห่างไกลจากพล็อตเรื่องนี้ขนาดนั้นด้วยซ้ำ โซเชียลมีเดียแผ่ขยายอิทธิพลของมันออกจากหน้าจอสู่ชีวิตจริงแล้วเรียบร้อย เราทำทุกอย่างเพื่อเรียกยอดไลค์ที่เป็นการสูบลมให้ตัวตนในโลกความจริงของเราพองใหญ่ขึ้นได้
.
แต่สำหรับประชาชนในจีนแผ่นดินใหญ่ ความเป็น Nosedive กำลังเริ่มเกิดขึ้นกับพวกเขามากกว่านั้นไปอีกระดับค่ะ
ข่าวระบุว่ารัฐบาลจีนกำลังวางแผนที่จะทำระบบที่ให้ชื่อว่า Social Credit System หรือระบบการให้เครดิตทางสังคม ต่อยอดจาก Great Firewall โปรแกรมเซ็นเซอร์ทางอินเทอร์เน็ตที่แบนไม่ให้ประชาชนชาวจีนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากนอกประเทศที่ทางรัฐบาลมองว่าเป็นภัยคุกคาม เป็นต้นเหตุทำให้ชาวจีนไม่ได้สัมผัสบริการที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ หรือไลน์ ทุกพฤติกรรมที่ชาวจีนทำบนโลกออนไลน์ล้วนอยู่ภายใต้การสอดส่องจากรัฐบาลจีนอย่างเข้มงวดและใกล้ชิด แม้จะไม่มีเฟซบุ๊กหรือไลน์ แต่ก็มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองที่ชาวจีนใช้งานกันอย่างคับคั่ง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่ประชาชนผลิตออกสู่อินเทอร์เน็ตเนี่ยแหละค่ะ ที่จะถูกนำมาคิดคำนวณเป็นคะแนนเรตติ้งภายใต้ระบบ Social Credit System
.
แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าคะแนนโซเชียลที่ว่าจะสามารถเอามาทำอะไรได้บ้าง แต่ที่พอจะเดาได้ก็คือมันจะเข้ามามีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในโลกจริงอย่างแน่นอน พฤติกรรมทั้งหมดจะถูกนำมาคิด วิเคราะห์ คำนวณ ออกมาเป็นคะแนนเฉลี่ย จากนั้นข้อมูลชุดนี้ก็อาจจะถูกหยิบไปใช้โดยรัฐบาล หรือนายจ้าง ในการที่จะตรวจสอบว่าบุคคลคนนี้น่าจ้างงานหรือเปล่า ธนาคารควรปล่อยสินเชื่อให้ไหม มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน หรือหากชื่อเสียงทางโซเชียลไม่ดี มีคะแนนออกมาติดลบ ก็เชื่อได้เลยว่าจะต้องถูกจับตามองทุกกระเบียดนิ้วแน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง
.
จะว่าไปนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกนะคะที่มีข่าวออกมาว่าประเทศจีนเขาหยิบเทคโนโลยีไปใช้แบบสุดโต่งขนาดนี้ ด้วยความที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิพลเมืองหรือสิทธิส่วนบุคคลอะไรมากมาย จีนจึงสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างไร้ขอบเขตจำกัด แถมลองนึกดูสิคะว่าเขามีประชากรที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตตั้ง 730 ล้านคน ขนาดของข้อมูลที่ได้มาจะใหญ่มหาศาลและเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากขนาดไหน ตรงกันข้ามกับทางฟากฝั่งตะวันตกที่ต้องเจอทางตันในการทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากไปขัดกับหลักการ สิทธิบางอย่างที่ประชาชนเขาให้ความสำคัญ ทำให้แม้ตัวเทคโนโลยีไปต่อได้อีก แต่ก็ต้องยอมหยุดลงกลางคันหรือชะลอออกไปก่อน
.
รัฐบาลจีนนี่เขาเล่นใหญ่ไปไกลถึงขั้นใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คอยสอดส่องประชาชนตามท้องถนนแล้วนะคะ อย่างตอนนี้ปักกิ่งเริ่มทดสอบการใช้แว่นอัจฉริยะที่มีฟีเจอร์การรู้จำใบหน้า เมื่อตำรวจตามจุดตรวจสวมแว่นประเภทนี้เอาไว้ ตัวแว่นจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบและเปรียบเทียบใบหน้าของคนและป้ายทะเบียนรถ ว่าอยู่ในรายชื่อบัญชีดำที่ทางการกำลังต้องการตัวอยู่หรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้ตามเวลาจริง ถ้าหากว่าตรงกับฐานข้อมูลที่มีก็จะแจ้งเตือนขึ้นมาเป็นกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าชาร์จได้ทันที
.
ประเทศจีนในตอนนี้ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีฟีเจอร์การตรวจจับใบหน้าของประชาชนไปแล้วกว่า 170 ล้านตัวทั่วประเทศ และจะเพิ่มอีกสามเท่าภายในปี 2020 ซึ่งนั่นก็หมายความว่าจะมีกล้องหนึ่งตัวต่อประชากรทุกๆ 2 คนเลยทีเดียว อื้อหือ! ถ้ายังนึกไม่ออกว่ามันทรงพลังขนาดไหนนะคะ ทางการเขาก็บอกว่ามันก็จะระบุตัวตนของคนที่ถูกจับภาพได้ว่าชื่อเสียงเรียงนามอะไรภายในเวลา 3 วินาทีนั่นแหละค่ะ
.
การระบุตัวตนของประชากรที่เดินไปเดินมากันขวักไขว่ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพแบบนี้ นอกจากจะทำให้ทางการหาตัวคนที่เป็นที่ต้องการได้ภายในเวลาชั่วอึดใจแล้ว(ลองนึกดูสิคะว่าถ้าหากวันหนึ่งรัฐบาลจีนต้องการตัวคุณขึ้นมา คุณจะมีทางรอดอะไรเหลืออีกนอกจากขุดหลุมแล้วลงไปอยู่ในหลุมนั่นเล่า) มันยังสามารถนำมาใช้ทำอะไรได้อีกเยอะมาก อย่างกรณีที่เกิดขึ้นแล้วก็คือการใช้ตรวจจับความผิดของการข้ามถนนอย่างผิดกฎหมาย ข้ามปุ๊บรู้ปั๊บว่าเป็นใคร บ้านอยู่ไหน แล้วเอาข้อมูลมาประจานให้คนอื่นเห็นกันไปเลย
.
อย่างไรก็ตามเรื่องที่น่าสนใจก็คือแม้เราที่เป็นคนนอกมองเข้าไปจะรู้สึกว่าน่ากลัวจัง ไม่เห็นอยากจะให้เกิดขึ้นกับตัวเองเลย แต่คนจีนเองมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลสูง และมองว่ารัฐบาลกำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อประชาชน ดังนั้นเทคโนโลยีอะไรที่รัฐบาลนำมาใช้ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ผ่านการคิดมาแล้วว่าเหมาะสมและหากจะมีอะไรที่ต้องแลกไปบ้างก็ย่อมคุ้มค่าเสมอ
.
ถึงแม้ซู่ชิงจะคาดหวังว่าเราไม่ควรไปไกลกันถึงขั้นที่จะต้องให้ตัวตนบนโลกออนไลน์ที่อันที่จริงก็คือคาแรคเตอร์ที่เราสร้างขึ้นได้ตามใจชอบ มาเป็นคะแนนเรตติ้งที่กระทบกับการใช้ชีวิตในโลกความจริงเลย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสองโลกนี้มันกลืนกินกันเรื่อยๆ จนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว
.
เพราะฉะนั้นคำแนะนำที่พอจะฝากไว้ให้ได้ ก็น่าจะเป็นให้ทุกคนเริ่มสร้างตัวตนออนไลน์ที่จะได้คะแนนเรตติ้งดีๆ กันไว้เสียตั้งแต่วันนี้ค่ะ

 

Reviews

Comment as: